ที่มา | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แพทย์เตือน อากาศร้อนจัดอันตราย! ระวังป่วย “ฮีทสโตรก” เด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ กำลังพักฟื้น ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
จากอากาศร้อนจัดช่วงเดือนเมษายน โดยพบว่า หลายจังหวัดอุณหภูมิทะลุ 40 องศาไปแล้วหลายพื้นที่
โดยเว็บไซต์ eldoradocountyweather.com ได้ทำการรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิจากเมืองต่าง ๆ ในโลก รายงานสภาพอากาศเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 62 ที่ผ่านมา นั้นพบว่า เมืองเซ๊าะ ประเทศพม่า อุณหภูมิสูงที่สุดในโลกถึง 45.8 องศา
ส่วนหลายจังหวัดของประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า อุณหภูมิสูงติดอันดับ 1 ใน 15 ของเมืองที่ร้อนที่สุดในโลกด้วย ซึ่งพบว่า จ.เลย ติดอันดับ 5 ที่อุณหภูมิ 43.4 องศา อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ติดอันดับ 6 ที่อุณหภูมิ 43.3 องศา อ.เถิน จ.ลำปาง ติดอันดับ 8 ที่อุณหภูมิ 43.3 องศา และ จ.สุโขทัย ติดลำดับ 13 ที่อุณหภูมิ 42.9 องศา
อ่านข่าว เปิดสถิติ ไทยร้อนพุ่งติดอันดับโลก ไม่ใช่แค่จังหวัดเดียว!
ล่าสุด เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์ ออกแถลงการ เตือนภัย อากาศร้อนอันตราย ระวังป่วยโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ระบุว่า
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เตือนประชาชนให้ระวังโรคลมแดด เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัดและอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นความผิดปกติของร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ กระสับกระส่าย ซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงประชาชนทั่วและผู้ป่วยระยะพักฟื้น สำหรับการป้องกัน สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือในสภาพที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เพิ่มความเสี่ยงของการขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นลมแดด
อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก ร่ม เสื้อผ้าบางคลุมร่างกายที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้งระหว่างรอทำกิจกรรมบางอย่าง นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อระบบประสาท จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
https://www.facebook.com/643148052494633/photos/a.643156795827092/1408938669248897/?type=3&theater