เปิด กม.ข่าวกรองฯ ฉบับใหม่ รัฐใช้ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ‘ล้วง’ ข้อมูลบุคคลได้!

เปิด กฎหมาย ข่าวกรองฯ ฉบับใหม่ สามารถใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ล้วงข้อมูลบุคคลได้แล้ว!

เมื่อช่วงค่ำ ของวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับใหม่ 2562 พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ซึ่งคือวันนี้ 17 เมษายน 2562) โดยมี สาระสำคัญ ดังนี้

มาตรา 6  ระบุว่า  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติภายใน ระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด หากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลดังกล่าวไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารภายใน กำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา สั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อาจดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบ ของนายกรัฐมนตรี โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการบันทึกรายละเอียดขั้นตอน การดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เหตุผล ความจำเป็น วิธีการ บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรือ อาจได้รับผลกระทบ และระยะเวลาในการดำเนินการ

รวมทั้งวิธีการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบ ต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง การดำเนินการตามมาตรานี้ หากได้กระทำตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตตามสมควร แก่เหตุแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็น การกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 12  ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ จัดให้มีศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “ศป.ข.” เป็นหน่วยงานภายใน เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกิจการการข่าวกรองการต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนร่วมกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศโดยให้ผู้อำนวยการ แต่งตั้งรองผู้อำนวยการคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “ผอ.ศป.ข.” มีหน้าที่รับผิดชอบ บริหารจัดการ และกำกับดูแลการดำเนินงาน ของ ศป.ข. ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการ

โดย ศป.ข. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

– ติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง รวมทั้งรายงานข่าวประจำวัน ข่าวเร่งด่วน ข่าวเฉพาะกรณี และรายงานการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต่อนายกรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ผู้อำนวยการ ตลอดจนกระจายข่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

– เฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในภาวะปกติและช่วงที่มีสถานการณ์ ช่วงเทศกาลที่สำคัญ พระราชพิธี และการประชุมหรืองานพิธีการที่สำคัญของรัฐ เพื่อสนับสนุน การป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินรุนแรงเกิดขึ้น และปฏิบัติต่อเนื่องจนสิ้นสุด สถานการณ์นั้น

– ให้ความรู้และประสานความร่วมมือด้านการข่าวกับภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นต้น