กัญชา : ส่องธุรกิจ “สายเขียว” เพื่อสันทนาการในอุรุกวัย 5 ปีหลังเปิดเสรี

กัญชา : ส่องธุรกิจ “สายเขียว” เพื่อสันทนาการในอุรุกวัย 5 ปีหลังเปิดเสรี

อุรุกวัยเป็นประเทศแรกของโลกที่ยอมให้การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ธุรกิจกัญชา หรือที่เรียกันติดปากว่า “ธุรกิจสายเขียว” ที่นั่น มีแนวโน้มอย่างไร

“เราขายกัญชาไปเยอะมากครับในวันแรก” เอสเตบัน ริวิเอรา เจ้าของร้านขายยาทันสมัย ขนาดใหญ่ ในกรุงมอนเตวิเดโอ ของประเทศอุรุกวัย เล่าให้บีบีซีฟัง “เราขายกัญชากว่า 1,250 ห่อภายใน 6 ชั่วโมง และยังมีคนต่อแถวยาวถึงสองช่วงตึกเพื่อซื้อกัญชาเลยทีเดียวครับ”

ขายกัญชาไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่างไรก็ตาม การขายกัญชาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อสันทนาการ ซึ่งบังคับใช้เมื่อปี 2013 นั้น อนุญาตให้เฉพาะร้านขายยาเท่านั้น ที่มีสิทธิจำหน่ายกัญชา และกว่าจะเกิดขึ้นได้ก็เป็นเวลากว่าสามปีหลังออกกฎหมาย

โดยเริ่มมีการวางขายกัญชาวันแรกในอุรุกวัยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2017 เหตุผลก็เป็นเพราะรัฐบาล ต้องการดำเนินการอย่างระมัดระวัง ทีละขั้นทีละตอน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่พ้นต้องเผชิญกับปัญหา ยุ่งยากอยู่ดี

ร้านขายยา

BBC
ในอุรุกวัย ร้านขายยาเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายกัญชา

“ธนาคารบอกให้ผมเลิกขายกัญชา ไม่งั้นจะปิดบัญชีของผม ผมก็หยุดสิครับ” เอสเตบันกล่าว

เภสัชกรรายนี้หัวเราะแห้ง ๆ เล่าต่อว่า “ผมเป็นร้านขายยาเจ้าแรกที่ลงทะเบียนขอขายกัญชา แต่ผมก็เป็นเจ้าแรกอีกเหมือนกันที่เลิกขายกัญชาในอุรุกวัย”

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สำหรับปัญหาที่ธนาคารในประเทศนี้ต้องเผชิญ แม้ว่าธนาคารในประเทศจะรับฝากถอนเงิน ที่มาจากการค้าขายกัญชา

ผู้ปล่อยกู้อย่างธนาคารที่เอสเตบันใช้บริการต้องอาศัยความร่วมมือจากธนาคารในสหรัฐฯ ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่ความร่วมมือนี้เริ่มเป็นปัญหา เมื่อธนาคารในสหรัฐฯ รู้ว่าธนาคารที่เป็นพันธมิตรในอุรุกวัยรับฝากเงินจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชา

แม้ว่าอุรุกวัยจะเป็นประเทศเอกราช แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากกฎหมายการเงินของสหรัฐฯ ที่คุมเข้มในเรื่องสารเสพติดที่อยู่ภายใต้การควบคุม นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั่วอุรุกวัยมี ร้านขายยาที่ขายกัญชาเพียง 17 ร้าน เท่านั้นที่ขายกัญชา ทั้งที่มีประชากรกว่า 3.5 ล้านคน

กว่าจะได้เสพกัญชาก็ไม่ง่ายเช่นกัน

“ฉันยืนตากแดดแทบตัวไหม้ รอให้ถึงบ่ายสอง ตอนที่เขาจะเริ่มเปิดขายกัญชา” หญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งกำลังต่อแถวอยู่หน้าร้านขายยาอีกแห่งในกรุงมอนเดวิเดโอกล่าว

“ร้านนี้ยังมีกัญชาขายมากพอโดยไม่ต้องจองทางออนไลน์ค่ะ มีไม่กี่ร้านที่จะเป็นแบบนี้ หลายคนเลยต้องจำใจกลับบ้านตัวเปล่า น่าเศร้าเหมือนกันนะคะ”

อุรุกวัยมีระบบควบคุมการซื้อขายกัญชาอย่างเข้มงวด โดยผู้เสพจะต้องลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ โดยมีข้อแม้ว่าสามารถซื้อได้ 10 กรัมต่อสัปดาห์เท่านั้น หรือประมาณ 20 มวน

นอกจากนี้ ยังจำกัดในเรื่องระดับความแรงของกัญชาด้วยเช่นกัน โดยปริมาณสาร THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีผลในทางประสาท ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม นั้นจะต้องสมดุลกับปริมาณสาร CBD (cannabidiol) ที่มีฤทธิ์ทำให้ผู้ใช้อยู่ในอาการสงบ

มวนกัญชา

BBC
อุรุกวัยควบคุมความเข้มข้นของกัญชาที่ขายเพื่อสันทนาการด้วย

ทั้งนี้ กัญชาที่ขายตามร้านขายยาจะมีความเข้มข้น 4 ระดับ แต่ไม่มีประเภทไหนที่ถือว่าแรง ราคาขายซึ่งมีการควบคุมจะตกประมาณ 5 ปอนด์ หรือ 210 บาท สำหรับปริมาณ 5 กรัม เจ้าของร้านขายยาอย่าง กาเบรียล ลาห์โน เล่าว่าทุก ๆ ห่อที่ขายได้ เขาจะมีกำไรแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แม้ว่าราคาสินค้าประเภทใกล้เคียงกัน เช่น ขนมผสมกัญชา หรือ กัญชาในกระดาษมวน จะสูงกว่ามากก็ตาม

เมื่อถึงเวลาเปิดร้านลูกค้าก็เรียงแถวกันเข้ามาวางนิ้วโป้งลงบนเครื่องอ่านลายนิ้วมือเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาได้ลงทะเบียนซื้อกัญชาเอาไว้แล้ว และยังเสพไม่เกินปริมาณที่ภาครัฐกำหนดไว้ต่อเดือน จากนั้นลูกค้าต้องชำระด้วยเงินสดเท่านั้นตามข้อตกลงระหว่างกาเบรียล เจ้าของร้านกับธนาคาร ที่ยอมให้เขาเปิดบัญชีอยู่ โดยธนาคารยืนกรานว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจกัญชา และจะใช้ดุลยพินิจปิดบัญชีที่พัวพันกับการค้าขายพืชชนิดนี้ทันทีเมื่อเห็นว่าเหมาะสมอีกด้วย

เป็นเวลา 18 เดือนแล้วหลังจากมีการจำหน่ายกัญชาในอุรุกวัย แม้ความเห่อของแปลกใหม่ จะลดลงไปบ้างแล้ว แต่คิวหน้าร้านขายยากลับยังไม่ลดลง

เหตุผลที่อุรุกวัยปรับเปลี่ยนกฎหมายกัญชาก็เพราะไม่ต้องการให้ผู้เสพคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า แม้จะเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายแล้ว แต่อุปสงค์ก็ยังไม่สอดคล้องกับอุปทานอยู่ดี

คนเข้าแถวรอซื้อกัญชา

BBC
ผู้คนเข้าแถวรอซื้อกัญชากันยาวหลายช่วงตึกนอกร้านขายยา

ปลูกเพื่อการแพทย์ดีกว่า

“ไม่เคยมีใครในอุรุกวัยปลูกกัญชาจำนวนมากมาก่อนเลยครับ” ดิเอโก ริวิเอรา เลขาธิการคณะกรรมการด้านสารเสพติดระดับชาติของอุรุกวัย กล่าวกับบีบีซี เขายังทำหน้าที่ดูแล IRCCA ซึ่งเป็นสถาบันควบคุมและจัดการกัญชาอีกด้วย “ตอนนี้บรรดาบริษัทกัญชาเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากขึ้น เราคาดว่าพวกเขาจะสามารถผลิตสินค้าได้เร็วกว่าเดิมแล้วครับ”

สถาบัน IRCCA ยังวางแผนที่จะออกใบอนุญาตปลูกกัญชาเพื่อสันทนาการให้กับบริษัทอีก 4 – 5 แห่ง เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีเพียงแค่ 2 แห่งเท่านั้น

ดิเอโกยอมรับว่ามาตรการของอุรุกวัยเข้มงวดกว่าบางมลรัฐในอเมริกาที่ยอมให้กัญชาถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่าการขายกัญชาเพื่อสันทนาการในอุรุกวัยนั้นไม่ได้ทำกำไรสูงลิ่ว แต่ภาครัฐเลือกสนับสนุนบริษัทที่ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์มากกว่า ซึ่งก็ถูกกฎหมายแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2013

นั่นทำให้ผู้ผลิตรายย่อยอย่าง ICC Labs หนึ่งในสองบริษัทที่อุรุกวัยอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อสันทนาการ เล็งเห็นโอกาสที่จะพัฒนากัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ควบคู่กันไป ซึ่งนอกจากจะทำกำไรได้มากกว่าแล้วก็ยังสามารถส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้หลายแห่งอีกด้วย

หญิงสาวผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนาในบริษัทกัญชา

BBC
เอเลนา กอนซาเลซ รามอส บอกว่า ความเจ็บปวดเรื้อรังคือหนึ่งในอาการยอดนิยมที่ถูกรักษาด้วยกัญชา

ทั้งนี้ ICC Labs เน้นสกัดสาร CBD จากกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ โดยล่าสุด Aurora บริษัทกัญชายักษ์ใหญ่สัญชาติแคนาดาได้เข้าซื้อ ICC Labs ในราคา 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 7 พันล้านบาท เพื่อครองตลาดฝั่งละตินอเมริกา

หลังจากแคนาดาผ่านกฎหมายกัญชาเพื่อการแพทย์ตั้งแต่ปี 2001 และเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว แคนาดาก็กลายเป็นประเทศที่สองในโลกที่ประกาศให้กัญชาเพื่อสันทนาการถูกกฎหมาย

ส่วนบริษัทเอกชนของอุรุกวัยอีกแห่งชื่อ Fotmer ก็เป็นเจ้าแรกที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตสาร THC เพื่อใช้ทางการแพทย์เช่นกัน โดยเอเลนา กอนซาเลซ รามอส ผู้จัดการแผนกวิจัย และพัฒนาคุณภาพของบริษัทบอกว่า “สาร THC มักถูกนำไปใช้เพื่อบรรเทา อาการเจ็บปวดเรื้อรังค่ะ โดยเฉพาะที่มีสาเหตุมาจากกระแสประสาทผิดปกติ เช่น อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรืออาการคลื่นไส้และอาเจียนค่ะ”

“ตลาดสำคัญของเราตอนนี้คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในแถบยุโรปค่ะ” เอเลนากล่าว “กฎระเบียบเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อนาคตข้างหน้าก็น่าจะสดใสด้วยเพราะอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้การเสพ กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมายแล้วค่ะ”