ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ยันฮี” เดินหน้ารักษาเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ด้วยความมุ่งมั่น หวังอนาคต เมืองไทยไร้ปากแหว่ง แจงตลอดระยะเวลา 21 ปีรักษาให้หายแล้วทั้งสิ้น 1,625 ราย ประกาศใครพบเจอเด็กฯ ส่งมารักษาฟรี ร่วมกันสร้างกุศลครั้งใหญ่ ปีนี้ตั้งเป้ารับอีก 100 ราย
ก้าวสู่ปีที่ 22 ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างแท้จริงสำหรับ โครงการ“ยิ้มสวย ด้วยแพทย์” รพ.ยันฮีรับรักษาเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่จนหายดีแล้วทั้งสิ้น 1,625 คน ตั้งใจรับรักษาอย่างต่อเนื่องทุกปีๆ ละ 100 ราย
นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวโครงการยิ้มสวย ด้วยแพทย์ ประจำปี 2562 ว่า ทางรพ.ได้จัดโครงการยิ้มสวย ด้วยแพทย์อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 22 แล้วถือเป็นโครงการช่วยเหลือสังคมที่น่าภาคภูมิใจของรพ.เป็นอย่างยิ่ง โดยมีเด็กที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,625 ราย และยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ให้หายเป็นปกติอย่างต่อเนื่องทุกปี ๆ ละ 100 รายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นพ.สุพจน์ กล่าวว่า โครงการนี้ ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (กรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น) เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลกับเด็กดังกล่าวในแต่ละจังหวัด เพื่อเข้ามาทำการผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลยันฮี ซึ่งตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้งบเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส คิดเป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
“ในปีนี้ รพ.ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากคุณปวีณา หงสกุลในฐานะมูลนิธิปวีณาหงสกุล และหน่วยงานในภาครัฐบาล โดยเฉพาะกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ให้การช่วยเหลือและส่งเด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่มาให้รพ.อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่อทางOnline ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนและผู้มีจิตศรัทธารับรู้และช่วยกันส่งต่อข่าวสารอันเป็นกุศลนี้เป็นอย่างดี ทำให้ในปีที่ 21 นี้ มีผู้ติดต่อเข้ามาร่วมโครงการได้ตามเป้าหมาย
และทางรพ.ยันฮี ยินดีจะรับเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ทุกคนเข้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยจะทยอยนัดมาพบแพทย์และผ่าตัดรักษาต่อไป ”
สำหรับสาเหตุของปากแหว่ง-เพดานโหว่ ส่วนใหญ่พบว่า เกิดจากสาเหตุ ดังนี้ 1. การเจ็บป่วยของแม่เมื่อตั้งครรภ์ 2. ภาวะขาดสารอาหารของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ 3. แม่สูบบุหรี่จัด 4. แม่ได้รับยา หรือสารบางชนิดต่อเนื่อง เช่น ยากันชักเช่น ฟีไนโตอิน (Phenytoin), ไดแลนติน (Dilantin) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
(Corticosteroid) สารพิษ สารเคมี การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การขาดกรดโฟลิคในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น รวมทั้งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ พบว่า มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมได้ประมาณ 12-20% ของผู้ป่วยทั้งหมด
ส่วนหลักเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าร่วมโครงการนั้น ขอให้เป็นเด็กที่มีความพิการปากแหว่ง-เพดานโหว่ ที่มีฐานะยากจน อายุระหว่าง 3 เดือน – 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สามารถผ่าตัดรักษาความพิการให้หายเป็นปกติได้ดีที่สุด หากผู้ที่สนใจทั่วไป หรือมูลนิธิต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีเด็กพิการดังกล่าวอยู่ในความดูแลหรือพบเห็นเด็กพิการตามหลักเกณฑ์ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โรงพยาบาลยันฮี โทร. 1723 ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น.