ธกส. ขยายพื้นที่โครงการเปลี่ยนต้นไม้ให้เป็นเงิน สร้างรายได้ให้ชุมชนละ 5 หมื่น

ธกส. ขยายพื้นที่โครงการเปลี่ยนต้นไม้ให้เป็นเงิน สร้างรายได้ให้ชุมชนละ 5 หมื่น ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่า 3 แสนไร่ 

ธ.ก.ส.เดินหน้าขยายพื้นที่โครงการธนาคารต้นไม้ สนับสนุนให้ชุมชนปลูกต้นไม้กักเก็บคาร์บอนแปลงก๊าซพิษเป็นเงิน ควบคู่การแนวคิดใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน

 คุณศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า โครงการธนาคารต้นไม้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้บนที่ดินของตนเองหรือชุมชน โดยสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำไม้ยืนต้นมาประเมินมูลค่าเพื่อเปลี่ยนเงินหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธ.ก.ส.ได้ ปัจจุบัน มีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,852 ชุมชน มีต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 11.8 ล้านต้น

ทั้งนี้ เพื่อขยายผลโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ต้นไม้ทุกชนิดในที่ดินมีกรรมสิทธิ์เป็นพันธุ์ไม้ไม่หวงห้าม และนำต้นไม้ในพื้นที่มาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ธ.ก.ส.จึงขยายพื้นที่โครงการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนละ 20,000 ต้น จำนวน 1,000 ชุมชน ซึ่งคาดว่าภายใน 10 ปี จะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไม่ต่ำกว่า 137 ล้านต้น หรือประมาณ 300,000 ไร่

การขยายพื้นที่โครงการในครั้งนี้ จะมีการอบรมความรู้ให้กับสมาชิกในชุมชน เพื่อสร้างผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้ที่จะนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างรายได้จากต้นไม้ อาทิ นำเศษไม้เหลือมาเผาถ่าน ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือแปรรูปพืชสมุนไพร เพื่อลดความยากจน และสร้างรายได้ให้สมาชิกในโครงการ อย่างน้อย 77 กลุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) หากชุมชนใดกักเก็บคาร์บอนได้จำนวนมาก ก็สามารถนำก๊าซดังกล่าวมาแปลงมูลค่าคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างเป็นรายได้คืนสู่ชุมชน โดยในปี 2562 ตั้งเป้าหมายไว้ ชุมชนละ 50,000 บาท จำนวน 60 ชุมชน รวมวงเงินจำนวน 3 ล้านบาท

คุณศรายุทธ เพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. ยังได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีการออมเงิน และขยายการลงทุนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านสินเชื่อกรีน เครดิต (Green Credit) รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อโดยใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน

ส่วนของชุมชนบ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นชุมชนที่ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2541 โดยมีการบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นอย่างดี อาทิ การสร้างโฮมสเตย์ที่มีมาตรฐานยอดเยี่ยม จนได้รับรางวัลกินรีเป็นแห่งแรกของประเทศ สร้างกลุ่มอาชีพเพาะกล้าไม้ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ มีสถาบันการเงินชุมชนที่ส่งเสริมการออม และให้บริการทางการเงินกับสมาชิก เช่น การจำนำต้นไม้ เพื่อนำเงินทุนไปใช้หมุนเวียนโดยยังไม่ต้องตัดต้นไม้ โดยในปี 2562 นี้ ชุมชนดังกล่าวได้รับเงินกลับคืนชุมชนจากการร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกถึง 94,400 บาท นอกจากนี้ สมาชิกในชุมชนยังได้รับสินเชื่อจากการใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงถึง 300,000 บาท