กกต. แจงข้อสงสัย ขานคะแนน บัตรเสียเป็นบัตรดี นับถูกต้อง ตามระเบียบกฎหมายทุกประการ

กกต. แจงข้อสงสัย ขานคะแนน บัตรเสียเป็นบัตรดี นับถูกต้อง ตามระเบียบกฎหมายทุกประการ

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยทางสื่อสังคมออนไลน์ 2 กรณี โดยกรณี 1 ตามที่ข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์เป็นภาพการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไม่ทราบสถานที่ใด โดยกรรมการที่ขานคะแนนไม่ได้ยกบัตรเลือกตั้งขึ้นแสดงให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เห็นอย่างชัดเจน

สำนักงาน กกต. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดสระแก้วแล้วทราบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่หน่วยเลือกตั้งที่ 12 ต.วังทอง อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ซึ่งได้ตรวจมูลกรณีเบื้องต้น ทราบว่าการกระทำอาจไม่เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อมามีผู้ยื่นคำร้องกรณีดังกล่าวด้วย

จึงดำเนินการสืบสวนสอบสวนไปในคราวเดียวกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะถึงขั้นไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรมหรือไม่นั่นอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทราบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

กรณีที่ 2 กรณีที่มีภาพปรากฏตามสื่อโซเชียลและปรากฏเป็นคลิปการขานคะแนนเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งที่ 5 และหน่วยเลือกตั้งที่ 2 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวางกรุงเทพฯ โรงเรียนวัดอุทัยธาราม สำนักงาน กกต. ได้ตรวจสอบกับสำนักงาน กกต.ประจำกรุงเทพแล้วได้รับการชี้แจงว่า ในการลงคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวมีผู้มาใช้สิทธิ์ 516 คน เป็นบัตรดี 501 ใบ เป็นบัตรเสีย 6 ใบ บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 9 ใบ โดยในการนับคะแนนมีสื่อมวลชน ตัวแทนพรรคการเมืองที่แจ้งชื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์ขั้นตอนการนับคะแนนจนสิ้นสุดการนับคะแนนด้วย

กรณีการขานบัตรเสียเป็นบัตรดีที่ปรากฏตามคลิป กกต.กทม. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง(กปน.) ตามคลิปที่ปรากฏให้การยืนยันว่าได้ดำเนินการนับคะแนนถูกต้องตามระเบียบกฎหมายทุกประการ คลิปที่ปรากฏเป็นเพียงบางช่วง บางตอนของเหตุการณ์การนับคะแนน โดยขณะที่กรรมการคน

หนึ่งกำลังขานคะแนนปรากฏว่ามีบัตรเลือกตั้งที่กากบาททับหมายเลขผู้สมัคร แล้วขานคะแนนว่าบัตรดี กรรมการอีกคนหนึ่งจึงได้ท้วงว่าบัตรดังกล่าวเป็นบัตรเสีย ซึ่งผู้ขานจึงขานคะแนนใหม่ในทันทีว่า บัตรเสีย

แล้วกรรมการอีกคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ขีดคะแนนในแบบขีดคะแนนได้ขานรับว่าเป็นบัตรเสียและขีดลงในช่องบัตรเสียของแบบขีดคะแนน จากนั้นประธานกปน. พร้อมด้วยกปน. อีกคนได้ลงราย มือชื่อสลักหลังบัตรว่า “เสีย” และพับบัตรใบนั้นลงใส่ตะกร้าบัตรเสียทันที

ดังนั้นคลิปที่มีการเผยแพร่ดังกล่าวอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการเผยแพร่หรือแชร์คลิป ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560