“นายหัวชวน”หลบร้อนการเมืองกลับตรัง ลงศูนย์วิจัยพืชสวน ดันสร้างสวนสะตอ

“นายหัวชวน”หลบร้อนการเมืองกลับตรัง ลงศูนย์วิจัยพืชสวน ดันสร้างสวนสะตอพันธุ์ตรัง เนรมิตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านการเกษตร และเป็นศูนย์ขององค์ความรู้ทางการเกษตร

ที่จังหวัดตรัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยังศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง พร้อม นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรังพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ให้การต้อนรับและร่วมประชุมปรึกษาหารือ ในการส่งเสริมศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านการเกษตร และเป็นศูนย์ขององค์ความรู้ทางการเกษตร ด้วยการก่อสร้างเส้นทางการเรียนรู้ทางด้านพืชสวน โดยเฉพาะพื้นที่อ่างเก็บน้ำภายในศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ มีการปลูกต้นสะตอพันธุ์ตรัง 1ตลอดขอบแนวอ่าง โดยให้ผลผลิต ประมาณ 3-4 ปี สามารถออกผลนอกฤดู ลำต้นไม่ใหญ่ ไม่สูง สามารถเก็บสะตอได้ไม่ยาก ลำต้นไม่สูง ฝักแน่น ฝักตรง ซึ่งจะทำให้ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

นายชวน กล่าวว่า มีแนวคิดผลักดันศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ให้เป็นศูนย์ท่องเที่ยวของจังหวัดตรังอีกแห่งหนึ่ง เพราะเป็นการช่วยเสริมรายได้ให้เกษตรกร ให้คนมาเที่ยวที่นี่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำโครงการ ก็ได้ของบประมาณไป ได้คุยกันก็ได้ประสานมายังผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้ชวนท่านชวนมาดูที่นี่ ว่าบริเวณนี้เราจะทำบริเวณอ่างเก็บน้ำที่ชลประทานได้ขุดไว้ให้ จะปลูกสะตอไว้ให้รอบๆ 50 กว่าไร่ ก็จะทำให้เป็นศูนย์ที่ สัก 2-3 ปีข้างหน้า เผื่อสะตอโตขึ้น และมีฝักมีดอก เมืองใต้ดอกไม้ไม่สวย อากาศชื้น ต้นไม้มีใบเขียวสวย แต่ดอกไม่ค่อยออก ถ้าเป็นสะตอก็ไม่มีปัญหาจะออกดอกสวยๆคิดว่าน่าจะดึงนักท่องเที่ยวมาได้ มาประมูล มาซื้อแต่ฝักสะตอได้ วันนี้เลยเชิญผู้ว่าฯมาช่วยดูงบประมาณควรจะจัดอะไรที่เหมาะสม

ด้านนายลือชัย กล่าวว่า ในศูนย์วิจัยพืชสวนของตรังถือว่าเรามีของดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานวิจัยด้านการเกษตร ตนคิดว่าน่าจะต่อยอดได้มากกว่านี้ และได้รับความกรุณาจาก นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ฯ พิจารณางบประมาณให้ ซึ่งได้ปรึกษานายชวน หลีกภัย เนื่องจาก นายชวนเป็นคนเริ่มต้นผลักดัน งานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวน มันน่าจะมีการต่อยอดและมีการเผยแพร่ แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่างานวิจัยเฉพาะตัวพืชอย่างเดียว แต่ตัวองคาพยพที่เกี่ยวกับเกษตรกรก็ต้องได้รับการวิจัยด้วย ยกตัวอย่างเรื่อง สะตอ
สะตอ เป็นพืชอัตลักษณ์สำคัญของพื้นที่ที่จะสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน

“คิดว่าตรงนี้ควรจะส่งเสริมโดยใช้งานวิจัย ตนเอง พืชหลักๆ ไม่ว่าสะตอ หรือเหนียง หรือพืชอื่นๆ ควรจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของพี่น้องเกษตรกร เพราะว่าวันนี้เราจะได้ไปเสริมพืชหลักที่มีอยู่ ไม่ว่าปาล์ม หรือยางก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้ในงานวิจัยซึ่งตรงกับฟังก์ชั่นของสถานที่แห่งนี้ด้วยมันไปได้ เชื่อว่า เราใช้เวลา 2-3 ปี จังหวัดตรังนำพืชประจำพื้นที่ของเรา ต่อยอดไปยังพี่น้องประชาชน จังหวัดตรังมีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งที่นี่เขาทำในเรื่องของการปกปัก การรักษาพันธุ์พืชประจำถิ่นไว้ อันที่สอง ตนมองว่าเราปกปักรักษาอย่างเดียวไม่พอ ควรจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้เป็นทางเลือกของพี่น้องประชาชนในชุมชนได้ ซึ่งก็ได้ทราบจากทางศูนย์ฯ ว่า ได้ทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อยากทำเพิ่มเติมก็คือ เรื่องฐานทรัพยากร ตรงนี้จะทำให้เพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่และก็นำไปสู่การขยายผลในชุมชนได้ ตนอยากให้ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังของเราเป็นแหล่งเรียนรู้และนำไปใช้จริง เพื่อเพิ่มรายได้” นายลือชัย กล่าว