‘ธนาธร’ งัดทีเด็ด! จ่อทำไฮเปอร์ลูปในไทย เร็วพอกับเครื่องบิน สร้างงานคนนับแสน

อนาคตใหม่ แถลงผลศึกษา “ไฮเปอร์ลูป” ในไทย สร้างงาน 1.8 แสนตำแหน่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 9.7 แสนล้านบาท พร้อมนำไทยสู่การ เป็นแนวหน้าอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีโลก

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เวลา 13.00 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษาโนบายคมนาคมพรรคอนาคตใหม่ จัดแถลงข่าว “ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย”

นายธนาธรเริ่มต้นโดยอธิบายหลักวิธีคิดและวิธีการออกแบบนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ โดยยึดหลักการสร้าง “คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก” ทำให้นโยบายที่ออกแบบมาแต่ละด้านจะร้อยรัดกัน มีลักษณะพลิกประเทศเพราะแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาตนและพรรคอนาคตใหม่แสดงออกชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนและนโยบายทางด้านการ “สร้างคนเท่าเทียมกัน” มาตลอดหลายเดือนแล้ว แต่ที่ตนและพรรคยังไม่ได้แสดงให้ประชาชนเห็นชัดก็คือนโยบาย “สร้างไทยเท่าทันโลก”

นายธนาธร กล่าวย้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงยุคทศวรรษที่ 1980-1990 ประเทศไทยเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย ที่จะกลายเป็นประเทศร่ำรวยต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่กลับทำไม่สำเร็จ แถมประเทศไทยยังถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศที่ตามหลังไทยอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียก็เริ่มไล่กวดไทยจนไกลจะแซงหน้าไทยแล้วเช่นกัน

เมื่อพูดถึง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่ ปัญหาการจัดการเศรษฐกิจมหภาคหรือการต่อสู้กับการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่นั่นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ปัญหารากฐานของเศรษฐกิจที่อยู่ลึกกว่านั้นคือ การเติบโตที่ผ่านมาของไทยตั้งอยู่บนเป้าหมายการเป็น “ฐานการลงทุน” ให้กับกิจการต่างชาติ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้ตัวเลขส่งออกและจีดีพีสูงขึ้นภายในเวลาสั้นๆ และมีการจ้างงาน รายได้เข้าประเทศแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น ไม่ยั่งยืน

แต่เราไม่เคยสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะความสามารถของเราเองอย่างจริงจัง จนงานวิชาการหลายชิ้นเรียกการพัฒนาของไทยว่าเป็น Technologyless Industrialization หรือ “การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไร้เทคโนโลยี” ซึ่งทำให้ในระยะยาว ไทยไม่สามารถไล่กวดทันกับประเทศอื่นได้

ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีเฉพาะตัว ประเทศที่มาทีหลังมี 3 ทางให้เลือก ก็คือ

  • 1. Path-following Strategy การเดินตามผู้นำ โดยให้ผู้นำถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาให้ทีละขั้นตอน ซึ่งประเทศไทยมักเดินตามเส้นทางนี้มาตลอด แต่เกาหลีใต้และไต้หวันประสบความสำเร็จมาแล้วจากการเดินตาม 2 ทางเลือกต่อไปนี้ คือ
  • 2. Path-skipping Stategy อาศัยความได้เปรียบจากการมาทีหลัง ข้ามลัดขั้นตอนลองผิดลองถูกของผู้นำ และ
  • 3. Path-creating Strategy กล้าเลือกเส้นทางใหม่เลย

ดังนั้น เทคโนโลยี “ไฮเปอร์ลูป(Hyperloop)” ถือเป็นหนึ่งในหลายความเป็นไปได้ที่ทำให้เรามุ่งสู่เส้นทางใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

 

ทางด้าน ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ กล่าวแนะนำไฮเปอร์ลูป ว่า เป็นระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพัฒนา มีระบบการทำงานลักษณะคล้ายตู้ทรงกระบอกความยาวประมาณ 25 เมตร ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าภายในท่อที่มีแรงกดอากาศต่ำใกล้เคียงสุญญากาศ เพื่อลดแรงเสียดทานจากปัจจัยต่างๆ โดยหวังว่าในอนาคตจะสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วถึง 1,100 ก.ม./ชม. แต่ใช้พลังงานและปล่อยมลพิษน้อยกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ

ส่วนรายละเอียดผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและประโยชน์ที่จะได้รับจากไฮเปอร์ลูปในประเทศไทย ต้นแบบการศึกษาเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพ-ภูเก็ต พบว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง เพราะอาจมีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่ารถไฟความเร็วสูง และได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่น้อยไปกว่ากัน (คาดว่าประมาณ 9.7 แสนบ้านบาท) โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างงานในประเทศได้ถึง 1.8 แสนตำแหน่งงาน และไฮเปอร์ลูปมีความปลอดภัยและความเสถียรและโดยเฉพาะความสะดวกรวดเร็วที่ถือว่าดีที่สุดเมือเทียบกับการเดินทางแบบอื่นๆ

 

สุดท้าย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวสรุปว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เสนอนโยบายให้สร้างไฮเปอร์ลูปทันที แต่จะเสนอนโยบายตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮเปอร์ลูปทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างอุตสาหกรรมไฮเปอร์ลูป

อย่างไรก็ตามหากพบว่าผลการศึกษาหรือการวิจัยพัฒนานั้นไม่สามารถทำได้จริง ก็ยังมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมายที่ได้องค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีไฟฟ้า อวกาศ เกษตร คมนาคม ระบบการขึ้นรูปโลหะ ระบบปรับแรงดันอากาศ ฯลฯ

แต่หากเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปประสบความสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศที่ขยับจากผู้ตามไปเป็นผู้นำ สามารถผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ สามารถขยับที่ทางของประเทศไทยไปเป็นแนวหน้าของประเทศอุตสาหกรรมโลกได้ ตามแนวทาง Path-skipping Stategy และ Path-creating Strategy และนี่คือวิสัยทัศน์ของพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประเทศไทยของพรรคอนาคตใหม่

นายธนาธร กล่าวว่า จะเปิดเผยรายงาน Preliminary Feasibility Report ในช่วงหลังการเลือกตั้งเพราะหากเปิดเผยในช่วงนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้ ดังนั้น คาดว่าจะเปิดเผยในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2562 โดยรายงานผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้น แต่ทุกคนสามารถนำไปศึกษา พัฒนา อ้างอิง ทำซ้ำ ดัดแปลง และวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่โดยถือว่าผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของสาธารณะ

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์