‘บิ๊กตู่’ รอดอีก! มติเอกฉันท์ ‘หัวหน้าคสช.’ไม่ใช่จนท.อื่นของรัฐ อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.

มติเอกฉันท์! ผู้ตรวจฯ ชี้ หัวหน้าคสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การันตี จึงยุติเรื่องร้องเรียน ระบุ กกต. รับสมัคร “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 มี.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการประชุมผู้ตรวจฯ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบพร้อมเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ การที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในมาตรา 109 (11) ของรัฐธรรมนูญ 40

ต่อมาเวลา 11.45 น. นายรักษเกชา แฉ่ฉ่าย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น

โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย…

ทั้งนี้ คำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” เป็นถ้อยคำเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 98 (15) รัฐธรรมนูญ ว่า จะต้องมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อพิจารณาถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. แล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม

แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าคสช. บริหารราชการแผ่นดินตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 ซึ่งมิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

ประกอบกับตำแหน่งหัวหน้าคสช. ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน

 

ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปโดยบทเฉพาะกาล มาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่

โดยบัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่

แสดงให้เห็นได้ว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. มิได้มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และมิได้ลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. จึงมิได้มีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่มีการร้อง

นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ดังนั้น การที่ กกต. ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่คำวินิจฉัยดังกล่าวออกไปแล้วอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ นายรักษเกชา กล่าวว่า ตอนพิจารณาคำร้อง ผู้ตรวจฯ พยายามมองในหลายๆ มุม แต่เมื่อพิจารณาข้อกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ยืนยันว่าผู้ตรวจฯ พิจารณาบนพื้นฐานของข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์