ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาท 69 จังหวัด

บอร์ดค่าจ้างสรุปผลการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 โดยใช้สูตรคำนวณรอบคอบ เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาก่อนประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560

หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 โดยใช้สูตรการคำนวณใหม่ ซึ่งเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมกว่า 10 รายการ ได้แก่ 1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับปัจจุบัน 2) ดัชนีค่าครองชีพ 3) อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2559 4) มาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ 5) ต้นทุนการผลิต 6) ราคาสินค้าและบริการ 7) ความสามารถของธุรกิจ  8) ผลิตภาพแรงงาน 9) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2557 และ 10) สภาพเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับผลการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ได้แบ่งค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ไม่ขึ้นค่าจ้าง มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี,ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ระนอง, นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา

กลุ่มที่สองขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, พัทลุง, สตูล, กำแพงเพชร, พิจิตร, แพร่, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชัยนาท, ลพบุรี, นครนายก, สระแก้ว, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, ตราด, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, นครพนม, อุบลราชธานี, อ่างทอง, เลย, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร, ยโสธร, เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, ชัยภูมิ, ศรีษะเกษ, นครสวรรค์ และหนองคาย

untitled

กลุ่มที่สามขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง,สุราษฎร์ธานี, สงขลา. เชียงใหม่, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, กระบี่, พังงา และอยุธยา  

ส่วนกลุ่มที่สี่ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และภูเก็ต

ส่วนกรณีจังหวัดที่ไม่ได้ขอขึ้นแต่บอร์ดค่าจ้างได้พิจารณาเห็นสมควรปรับขึ้น และบางจังหวัดที่ขอปรับขึ้นแต่ไม่ได้ขึ้นนั้น ได้พิจารณาโดยใช้สูตรคำนวณพื้นฐานปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ต่อไป

นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างในครั้งนี้ มีทั้งปรับขึ้นและไม่ปรับขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่บอร์ดค่าจ้างมีการคิดสูตรการคำนวณขึ้นมาใหม่ที่สอดคล้องกับข้อมูลสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ในโอกาสต่อไปได้ สิ่งที่ทำในวันนี้คือ การปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนแล้ว

ด้านนายสมบัติ น้อยหว้า กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ดค่าจ้างได้ใช้สูตรการคำนวณใหม่และได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบที่สุดในการปรับขึ้นและไม่ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างครั้งนี้โดยคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจและผลกระทบที่อาจจะตามมาเป็นหลัก ยืนยันว่าไม่มีการชี้นำหรือแทรกแซงทางการเมืองอย่างแน่นอน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ