อย.ชี้ชัด ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ โยง เบียร์ เล็งเอาผิดคนรีวิว

อย.ชี้ชัด ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ โยง เบียร์ เล็งเอาผิดคนรีวิว

อย. แจงเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท การโฆษณาต้องขออนุญาต อย. ก่อน โดยต้องไม่สื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดทั้งทางตรง ทางอ้อม หากตรวจสอบพบการกระทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปิดตัวสินค้าใหม่เป็นเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ และพบว่ามีการโฆษณาในทำนองว่า เป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า เบียร์จัดเป็นสุรา ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งหมายถึงวัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา

แต่ไม่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี การนำเบียร์ มาสกัดแอลกอฮอล์ออกหรือลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงให้ไม่เกิน 0.5 ดีกรี หรือไม่เกินร้อยละ 0.5 จัดเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และ ต้องส่งผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ประกอบการพิจารณา

โดยต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์คงเหลือในผลิตภัณฑ์ไม่เกินร้อยละ 0.5 จึงจะได้รับเลขสารบบอาหาร ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลการอนุญาตของ อย. พบการอนุญาตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ ภายใต้ชื่อ “เครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก” และ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์” จำนวนทั้งสิ้น 23 รายการ

ทั้งนี้ การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สกัดแอลกอฮอล์ออก/ลดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ต้องขออนุญาตโฆษณากับ อย. ก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ โดยการโฆษณาแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารจะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง และต้องแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย

และการโฆษณาดังกล่าวต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมแสดงข้อความ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์/สกัดแอลกอฮอล์ออก” ปรากฏคู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มดังกล่าวทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์

หากตรวจพบการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพบการเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือชักจูงให้ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือการแสดงคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

โดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ ที่ยังไม่ผ่านการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับกรณีผลิตภัณฑ์ที่เป็นข่าว อย. ตรวจสอบแล้วพบเป็นการรีวิวผลิตภัณฑ์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และ อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้รีวิวต่อไป

นอกจากนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพบความเชื่อมโยงกับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกด้วย จึงขอให้ผู้บริโภควางใจ
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการดำเนินงานของ อย. ซึ่ง อย. ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้และไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว

โดยได้ออกมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชักจูงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในตัวผลิตภัณฑ์หรือหันไปดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ไม่ชักจูงให้เกิดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสรรพคุณ คุณประโยชน์โดยไม่ผ่านการประเมินหลักฐานทางวิชาการจาก อย. ก่อน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยขณะนี้ อย. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง การโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ หากตรวจพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด