พระราชอารมณ์ขันของในหลวง วันที่ทรงปลูกต้นจามจุรี

ทุกคนรู้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือต้นจามจุรี ใครได้เคยไปเยี่ยมเยือน ก็จะเห็นต้นจามจุรี จำนวนมาก ปกคลุมอยู่จนถึงปัจจุบัน

จากการสืบค้น ตามข้อมูลของหอประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หลักฐานที่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของการถือว่าจามจุรีเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย หรือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวจุฬาฯ นั้นยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่อาจารย์และนิสิตรุ่นเก่า ๆ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตใครก็ตามประสงค์จะไปติดต่อราชการหรือธุระส่วนตัวที่ “โรงเรียนมหาวิทยาลัย” หรือ ”โรงเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งค่อย ๆ สั้นลงมาเป็น “โรงเรียนจุฬาฯ” และเหลือแต่ “จุฬาฯ” นั้น จะมีผู้แนะนำให้สังเกตว่าที่ใดเป็นโรงเรียนมหาวิทยาลัยนั่นคือไปที่ประทุมวัน บริเวณที่มีถนนผ่านต้นจามจุรีมากๆ พอไปถึงจะเป็นตึกเรียน นักเรียนและอาจารย์เส้นทางที่จะไปสถานที่ซึ่งมีจามจุรีมาก ๆ คือ ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 และถนนพญาไท

นิสิตรุ่น พ.ศ.2490 กว่าๆ เริ่มพบกับจามจุรีที่เป็นซุ้มรับน้องใหม่ ปลายทศวรรษนี้เริ่มมีมาลัยจามจุรีมอบให้น้องใหม่หรือเป็นรางวัลสำหรับนักกีฬาของคณะต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2492 ต่อ 2493 สุนทราภรณ์ได้แต่เพลง “จามจุรีศรีจุฬาฯ” ให้แก่ชาวจุฬาฯ ทั้งนี้เพราะสมัยโน้นวงดนตรีสุนทราภารณ์และจุฬาฯ ใกล้ชิดกันมาก สุนทราภรณ์ได้นำความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ และจามจุรีมาแต่เนื้อร้องที่มีความหมายกินใจ และใส่ทำนองเพลงที่ไพเราะยิ่ง

ช่วงเวลา พ.ศ. 2490 จามจุรีเป็นชื่อทีมฟุตบอลที่แข่งขันถ้วยต่าง ๆ สโมสรนิสิต (สจม.) และสโมสรนิสิตเก่า (สนจ.) ใช้เป็นชื่อทีมฟุตบอลแข่งขันงานที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยจัดขึ้น คนรุ่นหลังโดยเฉพาะผู้ที่ชอบและติดตามการแข่งขันฟุตบอลเริ่มรู้ว่าชาวจุฬาฯ มีความผูกพันกับจามจุรีเพียงใด

นอกเหนือจากข้อมูลที่ประมวลมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่นิสิตจุฬาฯ มีความรู้สึกนึกคิดตรงกันคือสีดอกจามจุรีเป็นสีชมพู จามจุรีให้ร่มเงาสำหรับการเดินไปมา การพักผ่อน การดูหนังสือ ใช้กิ่งก้านใบจามจุรีในกิจกรรมรับน้องใหม่กับการแข่งขันกีฬา วัฏจักรของจามจุรีสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ กล่าวคือ สีเขียวชอุ่มให้ความสดชื่นในภาคต้น และภาคที่สองทั้งใบและฝักเตือนให้รีบดูหนังสือเตรียมตัวสอบปลายปีมิฉะนั้นจะพบกัน repeat หรือ retire จามจุรีอยู่ที่จุฬาฯ มานานจนบอกไม่ได้ว่าเมื่อไร ด้วยเหตุนี้จามจุรีกับจุฬาฯ จึงผูกพันกันมากจนกลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยและเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาฯ

ประมาณต้นทศวรรษของ พ.ศ. 2500 ผู้บริหารของจุฬาฯ เห็นว่าจามจุรีเป็นไม้ที่สลัดใบ และฝักทำให้ถนนและคูข้างถนนในจุฬาฯ สกปรก มีโรคพืชทำให้กิ่งก้านหักหล่น จึงไม่มีนโยบายปลูกทดแทนต้นที่ตายไป นอกจากนั้นในช่วง พ.ศ.2480-2500 มีคณะต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก จึงต้องโค่นจามจุรีเพื่อสร้างตึกใหม่ จามจุรีจึงลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งว่าต้นจามจุรีมีความผูกพันกับคนแถวนี้มาก หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ปลูกจะเสด็จพระราชดำเนินมาปลูกต้นจามจุรีเอง และในวันที่ 15 มกราคม พุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นจามจุรี 5 ต้น หน้าหอประชุม และได้พระราชทานพระราชดำรัชถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับต้นจามจุรี ทรงเน้นว่าดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเล่าอย่างสอดแทรกพระราชอารมณ์ขันว่า ทรงปลูกต้นไม้ที่พระตำหนักไกลกังวล ต้นจามจุรีงอกขึ้นบริเวณต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้ จึงทรงถือว่าทรงปลูกจามจุรีเหล่านั้นด้วย เมื่อจามจุรีโตขึ้นแล้วเห็นว่าควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที ก่อนจบกระแสพระราชดำรัส ได้รับสั่งว่า ฝากต้นไม้ไว้ 5 ต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล จามจุรีพระราชทานห้าต้นจึงยืนต้น อย่างแข็งแรงเป็นศรีสง่าและสิริมงคลแก่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบันและตลอดไป

“วันนี้มาปลูกต้นไม้ ไม่มาทำอะไรอย่างอื่น แต่ต้นไม้นี่สำคัญ สำคัญจริง ๆ คือว่าทราบดีว่าต้นไม้นี่ชื่อว่าจามจุรี ก้ามปูนี่ก็เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนี้ ก็ได้นำมาห้าต้น ห้าต้นนี้ได้เลี้ยงตั้งแต่เกิดคือว่าปีที่แล้วไปที่หัวหินแล้วก็ปลูกต้นไม้ พวกนี้ก็เกิดมาด้วย เมื่อเกิดมาแล้วสงสาร ก็ต้องเลี้ยง เลี้ยงจนเติบโตพอควรก็เห็นว่าโตแล้ว ควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที แล้วก็มหาวิทยาลัยที่เหมาะสมกับที่นี่ เพราะว่าเขาเอ็นดูต้นจามจุรี ก็เชื่อว่าต้นไม้ทั้งห้าต้นนี้ นิสิตทั้งหลายคงรักษาไว้ให้เติบโต ไม่ให้ล้มตาย คือต้นไม้พวกนี้ ก็คงจะเป็นความสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยต่อไป…” พระราชดำรัสวันทรงพระราชทานต้นจามจุรีให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 15 มกราคม ๒๕๐๕
“ฝากต้นไม้ไว้ให้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2505 เมื่อครั้งทรงมาปลูกต้นจามจุรีให้ไว้แก่ชาวจุฬาฯ และต่อมาเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงตกแต่งลานรอบต้นจามจุรีพระราชทานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดลานจามจุรีพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙

ต้นจามจุรีทั้งห้าต้นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกไว้เมื่อวันที่ปี 2505 นั้น บัดนี้เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านไพศาลให้ความร่มเย็นอยู่เป็นนิจบริเวณลานจามจุรี โดยทั้งห้าต้นนั้นได้ล้อมด้วยเสาคอนกรีตและกั้นด้วยโซ่อยู่บริเวณหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล หากหันหน้าเข้าหาหอประชุมจุฬาฯ จะอยู่ทางซ้ายมือสองต้นและอยู่ทางขวามือสามต้น จามจุรีที่พระราชทานให้ชาวจุรีทั้งห้าต้นจะหยั่งรากลึกในหัวใจของชาวจุฬาฯ ตลอดไป เเละเรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขันดังกล่าว โดยเฉพาะการให้ต้นจามจุรีที่เลี้ยงดูมา เข้ามหาวิทยาลัยได้เสียที จึงถูกเล่าต่อจากรุ่นสู่ๆรุ่น โดยเฉพาะชาวหอใน รวมถึงทุกๆคณะ ด้วยความประทับใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก –

-คู่มือนิสิตใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำ ปีการศึกษา 2555
-http://www.memocent.chula.ac.th/
-www.reurnthai.com