9 มี.ค. เปิดใช้เต็มตัว อุโมงค์ลอดเขาใหญ่-ทับลาน เผยภาพสัตว์ป่าเดินข้ามอื้อ (คลิป)

9 มี.ค. เปิดใช้เต็มตัว อุโมงค์ลอดเขาใหญ่-ทับลาน เผยภาพสัตว์ป่าเดินข้ามอื้อ 

เมื่อเวลา 15.50 น. วันที่ 8 มี.ค. ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานว่า จากกรณีกรมทางหลวง กำหนดพิธีเปิดใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) อุโมงค์ทางเชื่อมผืนป่า ประกอบด้วย อุโมงค์ที่เชื่อมระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กับ อุทยานแห่งชาติทับลาน ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ เพื่อยืนยันถึงสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของการก่อสร้างทางหลวง อุโมงค์เชื่อมผืนป่าแห่งแรกในประเทศไทย ในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป โดยให้สัตว์ป่าเดินด้านบนอุโมงค์ที่ให้ยานพาหนะวิ่งผ่าน

นายประวัติศาสตร์ จันเทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ตามที่ได้มีการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมผืนป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน กับ อุทานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลก บนถนนสาย 304 (ปักธงชัย-นครราชสีมา) ระหว่าง ช่วง กม.192-กม.195 ต.บุพรามหมณ์ ให้สัตว์ป่าเดินข้ามไป-มา ในการหากิน-ผสมพันธุ์

“ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทดลองนำกล้องดักถ่ายภาพความเคลื่อนไหวในป่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเอ็นแค็ป (NCAPS) มาใช้ร่วมกับข้อมูลจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ โดยกำหนดเป็นเส้นทางเดินเท้าเข้าออกจากป่า และใช้กล้องดักถ่ายภาพความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ป่า โดยทำการติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งกล้องตัวนี้จะส่งภาพถ่ายแบบเรียลไทม์ถึงเจ้าหน้าที่ทันทีหากมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 1 นาที”

“จากการนำกล้องมาวางดักบนเส้นทางที่คาดว่าสัตว์ป่าจะเดินผ่านบนอุโมงค์ รวมจำนวน 4 ตัว โดยการนำเทคโนโลยีระบบกล้องเอ็นแคป (NCAPS) มาใช้ พบว่าประสิทธิภาพของกล้องเอ็นแค็ป ตอนนี้ไม่ได้ใช้เป็นผู้ช่วยเฝ้าระวังคนตัดไม้, ล่าสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังเฝ้าคนลักลอบจุดไฟเผาป่า เฝ้าระวังช้างป่า และติดตามพฤติกรรมของสัตว์ป่าในอุโมงค์เชื่อมผืนป่าทับลาน สามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าออกมาเป็นคลิปภาพครั้งละประมาณ 10 วินาที”

สำหรับสัตว์ป่าที่พบมีหลายชนิด ทั้งเก้ง กวาง เลียงผา แมวดาว ลิงป่า หมี โดยเฉพาะสัตว์ผู้ล่า “เสือโคร่ง” หน่วยวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็นได้วิเคราะห์จากภาพกล้องเอ็นแคป (NCAPS) มีจำนวน 2 ตัว มาเดินวนเวียนเข้ามาไม่ไกลจากอุโมงค์เชื่อมผืนป่าราว 3 กิโลเมตรเศษ รอเดินข้ามผืนป่าบนอุโมงค์เชื่อมผืนป่าแห่งนี้

เสือโคร่ง จะใช้พื้นที่ในการหากินมาก ราว 100-180 ตารางกิโลเมตรเศษ คาดว่าจากที่พบ “เสือโคร่ง” จะมีสัตว์ป่าอื่นๆ อีกมากเดิมข้ามฝั่งไป-มา ระหว่างบนอุโมงค์เชื่อมผืนป่าดงพญาเย็น เพื่อหากินที่ลำพญาธาร โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งนี้

นายประวัติศาสตร์ กล่าวต่อว่า แผนงานต่อไป กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เตรียมรองรับแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่าทั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน การวางแนวทางเดินให้สัตว์ป่าเดินข้ามอุโมงค์ตามแนวทางเดินอย่างปลอดภัย และติดตั้งกล้องเพิ่มอีก รวม 20 ตัวทั้ง 2 ฝั่งในอุทยานแห่งชาติทับลาน กับ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่