แฉ 5 ปี คสช. ยกป่าให้นายทุน 7 พันไร่ แต่ไล่ชาวบ้าน-คนจน ออกจากผืนป่า !!

แฉ 5 ปี คสช. ยกป่าให้นายทุน 7 พันไร่ แต่ไล่ชาวบ้าน-คนจน ออกจากผืนป่า !!

เฟซบุ๊กเพจ Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน เผยแพร่ข้อมูลการยึดคืนพื้นที่ป่าในยุคของ คสช.  ความว่า จากรายข่าวกรณีคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ใช้พื้นที่ป่าสงวน ทับกวาง-ป่ามวกเหล็ก ทั้งหมด 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตร.ว.

ทำให้เกิดคำถามจากสังคมต่อเรื่องความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์และยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ซึ่งตามความคิดของรัฐ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเชื่อว่ามีความสำคัญเชิงนิเวศวิทยาเป็นอย่างมาก

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเด็ดขาดในการใช้กฎหมาย มีการไล่รื้อที่ดินทำกินและดำเนินคดีประชาชนมาแล้วหลายร้อยราย ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

วันนี้ Land Watch Thai จึงขอเสนอข้อมูลให้เห็นว่า “ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าไปแล้วกี่ไร่” และอนุมัติให้ใครไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง

รวมทั้งผลจากการอนุมัติพื้นที่ป่าเหล่านั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้พื้นที่เหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง

1. ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 17/2558 เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติแม่สะเมา อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 803 ไร่ เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก

2. ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 17/2558 เพิกถอนป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 2,182 ไร่ เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก ทั้ง 2 กรณีเป็นการกระทำให้โครงการเดียวกันนั่นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก ปัจจุบันที่ดินส่วนใหญ่ถูกแปลงสถานเป็นที่ดินราชพัสดุเพื่อให้เอกชนมาเช่าใช้ประโยชน์แล้ว

3. เพิกถอนที่ดินสาธารณะ ซึ่งเป็นป่าชุมชนของชุมชนบ้านไชยา หมู่ที่ 4 ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย การออกคำสั่งที่รวดเร็วและฉับไวนั้นเองที่ละเลยคุณค่าของการถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่จะต้องนำไปรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 716 ไร่นั้น

จากการลงพื้นที่ของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดินพบว่า ป่าชุมชนแห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชนแล้ว ในฤดูที่เหมาะสม ชาวบ้านก็สามารถที่จะเข้าไปเก็บเห็ดนำไปขายสร้างรายได้ให้ชาวบ้านครั้งละเป็นพันบาท จึงเป็นเรื่องน่าสนใจมากว่าหากพื้นที่ดังกล่าวต้องเป็นพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชาวบ้านจะได้อะไร

4. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เซ็นอนุมัติให้บริษัทลูกของกระทิงแดงเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก จำนวนกว่า 31 ไร่ โดยหลังจากถูกกระแสกดดันจากสังคมทำให้ บ.กระทิงแดง แสดงความไม่ประสงค์ที่จะใช้ที่ดินผืนนั้นแล้ว

5. กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ใช้พื้นที่ป่าสงวน ทับกวาง-ป่ามวกเหล็ก ทั้งหมด 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตร.ว. สิ่งที่น่าสนใจคือเป็นการอนุมัติให้เข้าไปทำกิจการเหมือง ซึ่งแน่นอนว่า จากพื้นที่ที่เคยเขียวขจีตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้เหลืออีกต่อไป

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการออกมาให้ข้อมูลว่า เหมืองดังกล่าวมีการขออนุญาตประทานบัติไปจนถึงพ.ศ. 2579 แต่อายุในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าหมดลงเมื่อปี 2554 ดังนั้นจึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินกิจการเหมืองหรือไม่ ?

จากข้อมูลที่เรารวบรวม 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 7,046 ไร่ 3 งาน 131 ตร.ว.

ทั้งนี้ตลอดระยะที่ คสช.เข้าปกครองประเทศ ยังมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ไล่ยึดพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในผืนป่า ทั้งที่ในหลายพื้นที่ ชาวบ้านอาศัยอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน แต่ยังถูกขับไล่ออกมา ทำให้ต้องประสบปัญหากับการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก