คุณใหม่-สิริกิติยา กับชีวิตข้าราชการกรมศิลป์ และเป้าหมายที่ใฝ่ฝัน

คุณสิริยากร เจนเซน
คุณสิริยากร เจนเซน

คุณใหม่-สิริกิติยา กับชีวิตข้าราชการกรมศิลป์ และเป้าหมายที่ใฝ่ฝัน

“การทำงานนี้ เกิดจากความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงประวัติศาสตร์ได้ ไม่ใช่แค่รู้เฉยๆ หรือเข้าใจว่านี่คือประวัติศาสตร์ 1 2 3 4 ที่เกิดขึ้นในสมัย 200-300 ปีที่แล้ว แต่อยากให้คนเข้าใจจริงๆ ว่าประวัติศาสตร์สำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับเขา”

คุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมกล่าวถึงแรงบันดาลใจการจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

คุณสิริยากร เจนเซน
คุณสิริยากร เจนเซน

นิทรรศการนี้ผู้ชมจะได้เปิดมุมมองพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เลือนหาย คือพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งเป็นพระราชวังที่มีความสำคัญยิ่ง

เนื่องด้วยเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระมหาอุปราช ผู้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการสร้างบ้านสร้างเมืองให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาตำแหน่งนี้ขึ้น พร้อมกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.2325 ตราบจนกระทั่งสิ้นสุดลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2428

คุณสิริกิติยา กล่าวว่า นิทรรศการนี้เป็นการต่อยอดจากนิทรรศการประวัติศาสตร์ “วังน่านิมิต” ที่จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ตั้งใจโยงอดีตเข้าสู่บทสนทนาร่วมสมัยที่ท้าทาย โดยมีศิลปินร่วมสมัย 7 ท่านรับเชิญมาร่วมตั้งคำถามและสร้างผลงานโต้ตอบกับชั้นของเวลา และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่และสิ่งปลูกสร้าง ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นวังหน้า เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์ในมุมมองที่แตกต่าง ขณะเดียวกันเป็นการทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต สร้างภาวะการจดจำเรื่องราวเก่าในแบบใหม่

ภายในนิทรรศการได้นำผลงานศิลปะที่มีความหมายลึกซึ้งมาจัดแสดง อาทิ ผลงาน 2.2.1861 จากศิลปิน หยัง โว นำเสนอข้อความบนจดหมายที่ส่งถึงพ่อของตนในปี ค.ศ.1861 สะท้อนประวัติศาสตร์ของการมีอยู่ และการดำรงตนในพื้นที่ต่างๆ เนื้อความในจดหมายที่พูดถึงการสูญเสียและการลาจาก ถูกบรรยายเปรียบเปรยไว้ด้วยภาษาและเรื่องเล่าที่งดงาม ขนานไปกับความเชื่อและความศรัทธา, “ห่วงโลหะ” ทั้ง 2 วง จากศิลปิน นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ที่สลักเนื้อเพลงลาวแพนภาษาไทยและภาษาลาว บอกเล่าถึงชีวิตชาวลาวในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้น รวมถึงผลงานจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ อาทิ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ที่ร่วมขับร้องเพลงกาพย์เห่เรือสุดไพเราะในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยวันละ 3 รอบ

“นิทรรศการวังน่านิมิตก่อนหน้านี้ได้ทำให้หลายคนได้รู้ว่าพื้นที่วังหน้าเคยอยู่ตรงไหน คือพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงละครแห่งชาติ ซึ่งเมื่อไปยืนที่สนามหลวง ก็พอจะจินตนาการได้ว่าตรงนี้คืออะไร แต่นิทรรศการวังหน้านฤมิตนี้จะทำให้คนเริ่มกลับไปสืบค้นข้อมูล อยากรู้ความสำคัญ เกิดการพูดคุยกัน จนเกิดเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ขณะเดียวกันอยากทำให้ห้องนี้ (พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย) กลับมามีชีวิตอีกครั้ง บางคนอาจมาเพื่อฟังเพลง มากินอาหารหรือขนมสูตรชาววังโบราณ และจะหมุนเวียนการจัดแสดงในนิทรรศการทุกๆ 2 เดือน”

คุณสิริกิติยาใช้เวลาศึกษาและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำโครงการนี้กว่า 3 ปี ด้วยความหวังว่าอยากให้คนไทยรู้จักพื้นที่ประวัติศาสตร์ด้วยความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ใกล้ชิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มากขึ้น

“เป็นเรื่องที่คิดมาหลายปีแล้วว่าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์คืออะไร ครั้งหนึ่งเคยไปดูงานพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศกับกรมศิลป์ ก็ถามกับชาวคณะที่ไปว่าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คืออะไร จะเพียงอนุรักษ์ หรือให้การเรียนรู้ จึงทำนิทรรศการนี้ให้เป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ในมุมมองที่เปลี่ยนไป ผ่านวิธีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยี ศิลปะ ดีไซน์ มาเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้นกว่าการพูดบรรยายถึงอดีต ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ก็ไม่ยากที่จะทำให้คนไทยเข้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มากขึ้น”

เมื่อพูดถึงการทำงานเป็นข้าราชการที่กรมศิลปากร คุณสิริกิติยาพูดทั้งรอยยิ้มว่า “ค่อนข้างสนุก อย่างการรับผิดชอบโครงการนี้ มีบรรยากาศการทำงานที่หลากหลาย มีโอกาสคุยกับคนทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ภัณฑารักษ์ ภัณฑารักษ์ฝรั่งเศส นักดนตรี เลยรู้สึกว่าได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองหลายมุมมอง ทำให้เรียนรู้ว่าต้องฟังคนและเข้าใจ เพราะทุกคนต่างถูกกันหมด แล้วแต่ว่าจะอยู่ตรงไหน”

กับเป้าหมายการทำงาน คุณสิริกิติยาใฝ่ฝันอยากทำโครงการแบบนี้กับเกาะรัตนโกสินทร์ และรอบธนบุรี ทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต เป็นเรื่องสนุก และไม่ไกลตัวผู้คน

“เพราะละครบุพเพสันนิวาส ทุกวันนี้เลยเห็นคนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์เยอะขึ้น กระตุ้นให้คนกลับไปหาข้อมูล ทำให้คนอยากไปเรียนคณะวรรณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งที่ทราบปีนี้มีถึง 500 คน ฉะนั้นเราต้องเริ่มหาวิธีอื่นๆ ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องง่ายขึ้น และเป็นสิ่งที่มีชีวิตได้” คุณสิริกิติยากล่าว

สำหรับนิทรรศการพิเศษ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” เปิดให้ประชาชนเข้าชมระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

อ่านเพิ่มเติม : คุณใหม่ ชวนชม “วังหน้านฤมิต” เข้าใจประวัติศาสตร์ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

ที่มา : มติชนออนไลน์