ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ช็อกการส่งออกในเดือนม.ค. 62 ติดลบถึง 5.7% จี้ธปท.กำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยน หวั่นกระทบความสามารถการแข่งขัน และผู้ลงทุนอาจชะลอการลงทุน
ช็อกส่งออกม.ค. ติดลบ 5.7% – คุณกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกในขณะนี้ว่า การส่งออกในเดือนม.ค. 2562 ติดลบ 5.7% แม้ผู้ส่งออกจะรู้สึกช็อกแต่ก็เข้าใจว่า ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นนั้นยากต่อการควบคุม ส่วนหนึ่งมาจากความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศ โดยจากการคำนวณพบว่า ทุกๆ 1 บาท ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น จะทำให้รายได้จากการส่งออก ลดลง 3% ขณะที่อัตราเติบโตของการส่งออกจะลดลง 1% ในทุกๆ การแข็งค่าขึ้น 1 บาท อย่างไรก็ตาม สรท. ร้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศคู่ค้า โดยหลังจากเข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นที่น่ายินดีว่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย
ส่วนภาพรวมการส่งออกในปี 2562 แม้ว่ามูลค่าอาจจะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่หากดูตัวเลขย้อนหลังก็เชื่อว่าจะไม่แย่มากนัก โดย สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ว่าจะโตที่ 5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1. บรรยากาศการค้าโลก ความผันผวนของบรรยากาศการค้าโลกจากทั้งภาวะของสงครามการค้า และการเจรจา Brexit ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสิทธิประโยชน์ทางการค้า และความไม่สงบระหว่างประเทศอินเดียและปากีสถาน ที่ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อภาคการส่งออกและการขนส่งสินค้าทางอากาศ 2. ความผันผวนของค่าเงิน ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการเสนอราคาที่ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง และต้นทุนที่ต้องจัดการมากขึ้นขณะที่รายได้ในรูปของเงินบาทที่ลดลงทำให้ผู้ลงทุนอาจจะทบทวนการลงทุน