ม.หอการค้าเผยผลสำรวจ “วินมอไซค์” ชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้เหลือ 1.2 หมื่นบ./เดือน (มีคลิป)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เข้าไปสำรวจสถานภาพผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างจากกลุ่มตัวอย่าง 1,243 ราย จากจำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (วินมอเตอร์ไซค์) ที่ได้รับใบอนุญาตทั่วประเทศ 1.85 แสนราย พบว่ากลุ่มวินมอเตอร์ไซค์มีรายได้เฉลี่ย 974.81 บาทต่อวัน หรือ 24,370.25 บาทต่อเดือน โดยมีต้นทุน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าผ่อนรถ ค่าเช่าเสื้อวิน ถึง 11,633 บาทต่อเดือน ถือเป็นภาระที่หนักมาก โดยเหลือกำไรจากการขับวินประมาณ 12,736.61 บาทต่อเดือน และเงินดังกล่าวต้องใช้ดูแลคนในครอบครัวเฉลี่ย 4 คน

“การสำรวจพบว่าวินมอเตอร์ไซค์ต้องขับรถเพื่อหารายได้ 25 วันต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 41 เที่ยว ทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีอายุเฉลี่ย 39 ปี ทำอาชีพนี้มานาน 8 ปี ส่วนใหญ่ 79.57% ขับวินเป็นอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว และพบว่าเกือบทั้งหมดไม่ได้มีบัตรสวัสดิการคนจน ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือค่าน้ำมันผ่านบัตรสวัสดิการอาจเป็นการช่วยไม่ตรงจุดเท่าไหร่” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจพบว่าวินมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ 69.40% ระบุว่ามีภาระหนี้ประมาณ 1.85 แสนบาท มีการผ่อนชำระหนี้ 5,266.30 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการยืมญาติพี่น้องคนสนิท โดย 37.88% บอกว่าไม่มีแผนการออม ส่วนคนที่มีการออมเฉลี่ยเพียง 780.99 บาทต่อเดือน ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้ นอกจากนี้พบว่าส่วนใหญ่ 64.20% ไม่ได้ใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อรับผู้โดยสาร ระบุว่ามีขั้นตอนและระเบียบยุ่งยาก ใช้ไม่เป็น มีค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตเพิ่ม ได้รับผลกระทบจำนวนลูกค้าลดลง เพราะลูกค้าไม่เดินมาวิน โดยกลุ่มที่ใช้แอพพลิเคชั่น เช่น ไลน์แมน แกรบไบค์ อูเบอร์ มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,741.95 บาทต่อเดือน

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ 26.92% อยากกู้เงินในระบบเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ตรงนี้สอดคล้องกับนโยบายรักพี่วิน ที่บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ กลุ่มตัวอย่าง 27.49% ระบุเข้าร่วม เพราะเห็นว่า เป็นโครงการของภาครัฐที่น่าสนใจ ดอกเบี้ยถูก ลดค่าใช้จ่าย ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยสามารถผ่อนได้สูงสุด 151.12 บาทต่อวัน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในการกู้เงินนั้น จำนวน 31.66% ต้องการกู้เพื่อไปชำระหนี้เก่า นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเสริมสภาพคล่อง แทบทั้งหมดต้องการกู้ในระบบวงเงินเฉลี่ย 2.3 แสนบาท โดยกลุ่มที่ต้องการกู้ 53.02% ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะขาดหลักประกัน ไม่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเงิน และไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร โดยเงินทุนต้องการใช้ซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่เฉลี่ย 61,817.03 บาท

ด้าน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าวว่า ผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง ควรได้รับการดูแล เนื่องจากต้องทำงานหนัก เฉลี่ยขี่รถกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน และไม่มีสวัสดิการจากภาครัฐรองรับ เหลือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบอาชีพเพียง 12,736.61 บาทต่อเดือน แต่มีภาระดูแลสมาชิกครอบครัวเฉลี่ยถึง 4 คน นำไปสู่ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ดังนั้น ธนาคารจะนำผลสำรวจ และข้อเสนอแนะจากกลุ่มตัวอย่าง ไปพัฒนามาตรการช่วยเหลือ เช่น ส่งเสริมความรู้ให้นำแอพพลิเคชั่นมาเพิ่มลูกค้า รวมถึง ช่วยผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

นายมงคล กล่าวว่า ในเรื่องเงินทุน ธพว.ดำเนินการผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ถูกกว่าเงินกู้นอกระบบเฉลี่ย 7.29% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก โดย 3 ปีแรกเหลือเพียง 0.25% ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย สามารถใช้เป็นทุนหมุนเวียน ลงทุนนวัตกรรม และปรับปรุงธุรกิจให้มีความทันสมัย