สนช.ผ่านฉลุย! พ.ร.บ.ไซเบอร์ เปิดทางรัฐ คุมล้วงออนไลน์ ไร้ค้าน แม้แต่เสียงเดียว!

สนช.ผ่านฉลุย! พ.ร.บ.ไซเบอร์ เปิดทางรัฐ ควบคุมเบ็ดเสร็จ หวั่นรัฐล้วง ยึด กลายเป็น กฎอัยการศึกออนไลน์!

สนช. พ.ร.บ.ไซเบอร์ – เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 28 ก.พ. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. หรือพ.ร.บ.ไซเบอร์ ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มีนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธานเสนอ ด้วยคะแนน 133 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 16 เสียงเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมนั้น ไม่มีกมธ.หรือสมาชิกสนช.ติดใจสงวนคำแปรญัตติ ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกเป็นเพียงการตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายในรายละเอียด โดยไม่มีข้อเสนอให้แก้ไขหรือปรับปรุงตามบทบัญญัติที่กมธ.เสนอแต่อย่างใด โดยการอภิปราย และลงมติเป็นรายมาตราทั้งร่างจำนวน 81 มาตรา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที

สำหรับสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ฯ คือกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

และยังให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ซึ่งมีรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ดำเนินการได้หลายประการ ตามมาตรา 60 กำหนด เช่น รวบรวมข้อมูล หรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบจากภัยคุมคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ในกรณีที่ปรากฏแก่ กกม.ว่า เกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงด้วย

อีกทั้งมาตรา 61 ยังให้อำนาจเลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง หรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้นด้วย

สำหรับในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มอบหมายให้เลขาธิการฯ มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล้วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากดำเนินการดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว

และในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤต เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กกม. มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่ กกม.โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม กมธ.ได้มีข้อสังเกตแนบท้ายไปถึงรัฐบาล

โดยให้หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้การทำงานด้านดังกล่าวซึ่งถือเป็นของใหม่ สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฎหมาย ขณะที่การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับการทำงานระหว่างประเทศ ควรทำเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานแทนความตกลงที่มีผลผูกผันระหว่างรัฐ รวมถึงการทำข้อตกลงต้องอยู่ในภายใต้อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานฯเท่านั้น