จับตา พ.ร.บ.ไซเบอร์ เข้า สนช.วันนี้ หวั่นรัฐล้วง ยึด กลายเป็น กฎอัยการศึกออนไลน์!

จับตา พ.ร.บ.ไซเบอร์ เข้า สนช.วันนี้ หวั่นรัฐล้วง ยึด กลายเป็น กฎอัยการศึกออนไลน์!

การพิจารณาร่างกฎหมายโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประเด็นที่ประชาชนจับตามอง โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย พบว่า มีการเร่งพิจารณากฎหมาย โดยในวันนี้ (27 ก.พ.) จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ… และ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ พบว่า กำลังมีความกังวลในการผ่านกฎหมายดังกล่าว จนทำให้แฮชแท็ก #พรบไซเบอร์ ติดเทรนด์ของประเทศไทยในวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีเนื้อหาสำคัญคือ มีการตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) มีนายกฯเป็นประธาน และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกซ.) มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และคณะกรรมการส่งเสริมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ(กสส.) มีรมว.ดีอี เป็นประธาน และเปิดช่องให้ กปช. ตั้งคณะกรรมเฉพาะด้านอื่นได้อีก รวมทั้งมี คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(คกส.) มีรมว.ดีอี เป็นประธาน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แบ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็น 3 ระดับ คือ 1.เฝ้าระวัง 2.ร้ายแรง และ3.วิกฤต สำหรับการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคาม ระดับร้ายแรง เจ้าหน้าที่ Cyber Security สามารถเข้าตรวจค้น ยึด ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ หรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ โดยเหตุเเค่เพียงต้องสงสัย โดยไม่ได้เริ่มคดีเเละไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ขอหมายค้นจากศาล โดยให้ กปช. หรือ กกซ. ยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนฉุกเฉิน และหากเป็นภัยคุกคาม ระดับวิกฤต ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้

ทั้งนี้ กปช.มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ให้แจ้งต่อศาล