คลังแห้ว ดันกฎหมาย รีดภาษีธุรกิจออนไลน์ไม่ทัน ชวดรายได้ 4 หมื่นล้านบาท

คลังแห้ว ดันกฎหมายรีดภาษีธุรกิจออนไลน์ไม่ทัน ชวดรายได้ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี โยนรัฐบาลใหม่ผลักดันต่อ

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ เช่น เฟสบุ๊ค ยูทูป ที่มีรายได้จากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวตกับกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้เพิ่้มขึ้นปีละ 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าไม่สามารถผลักดันเป็นกฎหมายใช้ได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้

สำหรับ พ.ร.บ. e-Business ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่สามารถเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาได้ทันก่อนมีการเลือกตั้งใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งกระทรวงการคลังต้องรอให้รัฐบาลมาใหม่มาพิจารณากฎหมายนี้ใหม่ เพราะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บรายได้และเศรษฐกิจของประเทศ

“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้หารือกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่อยู่ในค่ายต้องเสียภาษีจากกฎหมาย ก็เห็นด้วยไม่ได้ขัดข้องที่จะเสียภาษี เพียงแต่รอกฎหมายออกมาให้มีความชัดเจนเท่านั้น” นายประสงค์ กล่าว

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า พ.ร.บ.e-Business คาดว่าจะไม่ทันรัฐบาลนี้ ต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่เห็นชอบอีกครั้ง กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการธุรกิจบนแพลตฟอร์มในและนอกประเทศ อย่างไรก็ดีถึงกฎหมายออกไม่ทันก็ไม่กระทบกับการเก็บภาษีของกรมในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 2 ล้านล้านบาท และ 2563 จำนวน 2.11 ล้านล้านบาท เพราะยังไม่มีการประเมินการเก็บในส่วนนี้ไว้ในเป้าหมาย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การค้าขายสินค้าและให้บริการ ไม่ต้องมาตั้งมาในประเทศไทย สามารถค้าขายบนออนไลน์บนแพลตฟอร์มในต่างประเทศ เป็นบริษัทอยู่ต่างประเทศจดทะเบียน เช่น ขายหนังออนไลน์ ดาวโหลดเพลง สติ๊กเกอร์ ให้บริการโฆษณา ซึ่งผู้ให้บริการไม่มีภาระต้องเสียภาษีแวต ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกันที่ต้องเสียภาษีแวต และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้มากขึ้น

สำหรับในต่างประเทศทีมีการเก็บภาษีดังกล่าว พบว่า ผู้ประกอบ 70-80% ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีชื่อเสียง ยอมเข้าสู่ระบบการเสียภาษีแวต เพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยงทำผิดกฎหมายเสียค่าปรับภาษีและเสียชื่อเสียงของบริษัท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมสรรพากรได้เตรียมพร้อมระบบไอทีเพื่อรองรับการเก็บภาษีแวตดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสะดวกสามารถดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นล้านบาทนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้เพิ่ม