เอสซีจี สานต่อโครงการอย่างต่อเนื่อง “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

เอสซีจี ร่วมกับเครือข่ายชุมชน พร้อมภาครัฐ ขยายพื้นที่โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ใน จ.ลำปาง ใต้การปฏิบัติ SCG Circular Way ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เพื่อขยายผลการจัดการดูแลน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สร้างต้นน้ำที่ดี กลางน้ำที่สมบูรณ์ สู่ปลายน้ำที่ยั่งยืน

คุณชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้านการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ภายใต้โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ควบคู่กับการสร้างเสริมแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ผ่านการสร้างให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น และชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ ที่ได้ร่วมกับชุมชนสร้างฝายชะลอการไหลของน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นผืนดิน ลดไฟป่า ปัจจุบัน เอสซีจี ได้สร้างฝายชะลอน้ำแล้วกว่า 84,000 ฝาย ฟื้นคืนความสมดุลพื้นที่ป่ากว่า 235,000 ไร่ สำหรับพื้นที่กลางน้ำ มีการสร้างสระพวง ทำชุมชนมีน้ำใช้ทำการเกษตรตลอดทั้งปีกว่า 30,400 ลบ.ม. และระบบแก้มลิงถึง 9 ล้านลบ.ม. ช่วยให้พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 16,750 ไร่

ส่วนพื้นที่ปลายน้ำ ได้สนับสนุนท่อ PE100 และปูนทนน้ำทะเลที่ทนซัลเฟตและคลอไรด์ได้นานกว่าปูนธรรมดา ให้ชุมชนนำไปประกอบเป็นบ้านปลา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด นอกจากนี้ การจัดการน้ำ ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีการรวมกลุ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจบ้านแป้นใต้ กลุ่มตลาดวีมาร์เก็ต และกรีนมาร์เก็ตลำปาง สร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 60,000 บาทต่อครัวเรือน/ปี

ด้านคุณประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า เดิมจังหวัดลำปางเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ แต่ด้วยหลายปัจจัย เช่น การบุกรุกหาของป่า การเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย รวมถึงปัญหาไฟป่า ทำให้พื้นที่ลำปางเกิดความแห้งแล้ง นับเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาครัฐเช่นกันที่ต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้คนอยู่กับป่าแบบพึ่งพาอาศัยกันให้ได้มากที่สุด

ความสำเร็จจากการดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับ 55 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง และที่จะกำลังขยายไปสู่พื้นที่ เมืองมาย อ.แจ้ห่ม และอีก 6 จังหวัด พื้นที่ในหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น ในจังหวัดแพร่ น่าน ลำพูน และเชียงใหม่ นับเป็นบทเรียนและต้นแบบความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน เอสซีจี และภาครัฐ ในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้น และจุดประกายให้ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ได้นำแนวคิดนี้ผสานกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปปรับใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วยตนเองให้ประสบผลสำเร็จ และขยายผลต่อไปจนเกิดการดูแลและจัดการน้ำชุมชน ตลอดจนการพัฒนาอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป