ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กลาโหม แจงยิบหลังพรรคการเมืองหาเสียงชูนโยบาย ตัดงบกลาโหมฯ ยันโปร่งใส ผ่านคณะรัฐมนตรี-รัฐสภา เหมือนทุกกระทรวง ไม่มีอะไรลับ-นัยยะพิเศษ ทหารก็เสียภาษีเหมือนประชาชน วอนนักการเมืองอย่าพูดลอยๆ
งบกองทัพ / เวลา 14.00 น. วันที่ 20 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงชี้แจงงบประมาณกระทรวง ภายหลังจากที่หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายตัดงบประมาณเหล่าทัพว่า กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานความมั่นคงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
โดยพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีภารกิจป้องกันประเทศ รักษาความมั่นคงภายในประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ พัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งยังทำงานในบทบาทสนับสนุนรัฐบาลด้วย เช่นการแก้ไขปัญหายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า และการลักลอบนำเข้าของผิดกฎหมายพืชผลการเกษตร
ทั้งนี้ขนาดกองทัพเติบโตมาจากภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งสมัยก่อนมีคอมมิวนิสต์ รัฐบาลในสมัยนั้นจึงกำหนดให้มีกำลังทหารมากขึ้นโดยเพิ่มอัตราการเกณฑ์ทหารมากขึ้น
สังคมจะเป็นตัวกำหนดขนาดของกองทัพเพื่อตอบสนองภัยคุกคามทำให้กองทัพมีขนาดใหญ่มากขึ้น จึงต้องมีการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งกองทัพไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากกระทรวงอื่น มีขั้นตอนดำเนินการตามกระบวนการวิธีพิจารณางบประมาณเหมือนกับทุกกระทรวงที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลและรัฐสภาที่มีคณะกรรมาธิการเป็นผู้กลั้นกรองงบประมาณ
ท้ายสุดก็บรรจุอยู่ในพ.ร.บ.ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่ผิดเพี้ยน หรือซ่อนเร้นแต่อย่างใด ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยก็ทำเช่นนี้ และกองทัพก็เป็นของประชาชน เพราะคนที่มาเป็นทหารก็คือลูกหลานของประชาชน
รั้วคอนกรีตติดกล้องวงจรปิด
พล.ท.คงชีพ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายของประเทศภาพใหญ่ ก็จะแบ่งเป็นด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านความมั่นคง จะเป็นกล่องใครกล่องมัน ดังนั้นจะไม่มีการใช้แบบสะเปะสะปะที่จะดึงจากกองโน้นไปใส่กองนี้ เพราะประเทศชาติต้องเติบโตไปพร้อมกัน
ประเทศก็เหมือนบ้านที่ต้องล้อมรั้ว เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็ต้องล้อมรั้วสังกะสี เมื่อมีทรัพย์สมบัติมากขึ้นก็จะต้องทำรั้วคอนกรีต จากนั้นก็ต้องติดกล้องวงจรปิดและจ้างยามเหมือนกับบ้านหรือบริษัทเอกชนต่างๆ
ดังนั้นทหารก็เหมือนรั้ว การทำโครงสร้างของทหารให้แข็งแรงก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของชาติ และทรัพย์สินที่มีอยู่ภายในบ้าน วันนี้ประเทศไทยเรามีทรัพย์สินภายในบ้านมากขึ้น การดูแลกองทัพก็ต้องเติบโตขึ้น สำหรับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ผ่านมาคนพูดแค่ปลายทางว่างบประมาณแต่ละปีมากขึ้น
รวมทั้งยังนำงบประมาณแต่ละปีมากบวกกันทำให้มีตัวเลขมากขึ้นเป็นล้านล้านบาท ซึ่งต้องดูภาพรวมด้วยว่างบประมาณของประเทศในแต่ละปีก็เติบโตขึ้นไปด้วย ซึ่งปัจจุบันงบประมาณของประเทศเติบโตประมาณ 3 ล้านล้านบาท
พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมางบประมาณของกระทรวงกลาโหมถูกพูดแค่มุมเดียว ไม่ได้มีการเปรียบเทียบกับงบประมาณก้อนใหญ่ภาพรวมของประเทศที่เติบโตขึ้น ทำให้สัดส่วนงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรโตขึ้น แต่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่นัยยะอะไรที่แอบแฝง
แต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นงบประมาณกองทัพลดลง ทำให้เกิดปัญหา เพราะเราไม่มีงบประมาณการฝึก ไม่มีน้ำมันสำหรับการฝึก โดยเฉพาะเครื่องบิน ไม่มีการบำรุงยุทโธปกรณ์ ทำให้ยุทโธปกรณ์ช่วงนั้นได้รับความเสียหายพอสมควร อีกทั้งยังเกิดปัญหานักบินสมองไหลคือนักบินทหารหลายคนลาออกไปอยู่บริษัทเอกชนจำนวนมาก
ซึ่งพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรมว.กลาโหม ก็ทราบดี เพราะเป็นทหารอากาศ จากนั้นช่วงปี 2549-2551 เราก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมฟื้นฟู ทำให้งบประมาณกองทัพดีดขึ้นมา ผมยืนยันว่าการใช้งบประมาณของกองทัพทุกรัฐบาลต้องผ่านกระบวนการกลั้นกรองของรัฐสภา ซึ่งกองทัพไม่ได้มีงบประมาณลับอะไร
การจัดหายุทโธปกรณ์นั้นก็จัดหาตามขีดความสามารถของกองทัพตามแผนพัฒนากองทัพ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงตามห้วงระยะเวลาว่าเราต้องใช้กำลังอะไรและอย่างไร มีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอต่อการรองรับหรือไม่ เพราะหากมีการรบเราจะต้องไม่แพ้ หรือไม่สูญเสียเอกราชอธิปไตย
“ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการจัดหาตามงบประมาณ และต้องมีการฟื้นฟูสภาพยุทโธปกรณ์ให้พร้อมทำหน้าที่ตลอดเวลา ยืนยันว่างบประมาณของประเทศคือภาษีของประชาชน และคือภาษีของทหารด้วย เพราะทหารทุกคนก็เสียภาษีเช่นกัน” พล.ท.คงชีพ กล่าว
- งบกลาโหมอยู่อันดับเท่าไหร่?
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ลำดับประมาณ 3-4 ตามความใหญ่เล็กและภารกิจของแต่ละกระทรวง ที่ผ่านมามีคนพูดว่ารั้วมีไว้ทำไม แต่วันใดที่ไม่มีการบุกเข้ามาในบ้านก็ตอบไม่ได้ว่ามีรั้วไว้ทำไม แ
แต่วันนี้เราอยู่กันข้างในบ้าน แต่ไม่เคยดูสภาพรั้วว่าเป็นอย่างไร ที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลคาดเคลื่อนจากความเป็นจริงว่าทหารใช้งบประมาณในเวลา 5 ปีจำนวนล้านล้านบาท มีการเปรียบเทียบว่าควรนำเงินในส่วนนี้ไปใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการประชาชนดีกว่าหรือไม่ ตนยืนยันว่างบประมาณดังกล่าวเป็นคนละส่วนกัน
- ตัดงบ 10 เปอร์เซ็นต์กระทบกองทัพหรือไม่?
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า มิติความมั่นคงไม่ใช่เรื่องการป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย เนื่องจากกองทัพต้องมีงบประมาณในส่วนของช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ และทุกภัยที่ไม่ได้เกิดจากสงครามปัจจุบันก็มีมากมาย
แต่เราพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของประชาชนทุกคน หากข้อเสนอเป็นประโยชน์เราก็พร้อมรับฟัง และอยากพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่อยากให้มีการพูดกับแบบลอยๆ ทั้งนี้หากนายจาตุรนต์ ฉายแสงประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ มีข้อมูลเสนอมาตนก็พร้อมรับฟัง
- ยกเลิกกองบัญชาการกองทัพไทย?
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ตนอยากให้ผู้ที่เสนอมานั่งคุยกับตนมากกว่า ไม่อยากให้พูดแบบลอยๆผ่านสื่อมวลชน เพราะจะกระทบกับโครงสร้างความมั่นคงทั้งระบบ เรื่องนี้ไม่สามารถได้ทำได้ง่ายๆเพียงวันเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่ต้องศึกษาให้ดี
- เชิญนักการเมืองฟังเรื่องงบกลาโหม
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า คนทำงานการเมืองคือคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในสภาฯ การจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมา นักการเมืองล้วนเป็นคนจัดสรรให้ ซึ่งนักการเมืองทราบดีอยู่แล้ว ตนไม่อยากให้ใช้ช่วงเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งนำอีกมุมไปพูดโจมตีแบบไม่ครบถ้วน ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนร่วมกันมาแล้ว 4ปีที่ผ่านมาเราควรทบทวนและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง
- ทำนักการเมืองพูดถึงแต่กระทรวงกลาโหม?
โฆษกลาโหมฯ กล่าวว่า การที่ทหารเข้ามา เพราะประชาชนต้องการทุกอย่างมีที่มาที่ไป ตนอยากให้ไปถามเรื่องนี้กับนักการเมืองมากกว่า ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่ผ่านมาของบ้านเราอยู่ที่คนมากกว่า
ดังนั้นคนต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่ารัฐบาลพิจารณาทุกงบประมาณอย่างโปร่งใส และไม่มีมุบมิบ
สำหรับงบประมาณกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ปี 2557-2562 มีดังนี้ ปี 2557 ได้รับงบประมาณ 183,819 ล้านบาท ปี2558 ได้รับงบประมาณ 192,949 ล้านบาท ปี 2559 ได้รับงบประมาณ 206,461 ล้านบาท ปี 2560 ได้รับงบประมาณ 213,544 ล้านบาท ปี 2561 ได้รับงบประมาณ 218,503 ล้านบาท และปี 2562 ได้รับงบประมาณ 227,126 ล้านบาท