ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สรรพสามิตเตรียมปรับอัตราภาษีความหวาน ในรอบที่ 2 ตั้งแต่ 1 ต.ค.62 และขึ้นเป็นขั้นบันไดอีก ทุก 2 ปี สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร ถ้ายังไม่ลดความหวานลงมา โดย น้ำอัดลมกระป๋องขนาด 250 ซีซี จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 10 สตางค์ ส่วนเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ยกเว้นการเก็บภาษี
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า วันที่ 1 ต.ค.2562 อัตราภาษีความหวานจะเก็บเพิ่มมากขึ้น ตามกฎหมายใหม่ของกรมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2560 ที่ให้มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามขั้นบันได ทำให้เครื่องดื่มที่มีความหวานเกินกำหนด จะต้องเสียภาษีมากขึ้น เช่น น้ำอัดลมกระป๋องขนาด 250 ซีซี จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 10 สตางค์ ส่วนผู้ประกอบการจะเพิ่มราคากับผู้บริโภค ขึ้นอยู่กลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิต
ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร หลังที่วันที่ 1 ต.ค.2562 ถึง 30 ก.ย.2564 จะเก็บ 3 บาทต่อลิตร และหลังจากนั้นจะปรับเพิ่มสูงสุด 5 บาทต่อลิตร
“ตอนนี้เครื่องดื่มน้ำอัดลมบางส่วน ก็มีการปรับลดน้ำตามจาก 14 กรัมต่อลิตร เหลือ 12 กรัมต่อลิตร เพื่อเสียภาษีให้ต่ำลง ส่วนน้ำอัดลมสีดำยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสูตร เพราะเป็นตลาดใหญ่ของผู้บริโภค ต่างจากน้ำอัดลมสี ที่สัดส่วนตลาดมีน้อยก็มีการเปลี่ยนสูตรลดน้ำตาล ไม่กระทบกับยอดขาย” นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวว่า กฎหมายสรรพสามิตใหม่ปี 2560 ได้มีการแก้ไขเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมพืชทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 10% ได้ยกเว้นภาษีสรรพสามิต เป็น 20% ถึงจะได้ลดภาษีเพื่อให้มีการช่วยเหลือเกษตรการอย่างแท้จริงมากขึ้น
ทั้งนี้ กฎกระทรวงกําหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตความหวาน กำหนดว่า ตั้งแต่กฎหมายสรรพสามิต มีผลบังคับใช้วันที่ 16 ก.ย.2560 ถึง 30 ก.ย. 2562
1. เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เว้นการเก็บภาษี 2. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.10 บาทต่อลิตร
3. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัมแต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.30 บาทต่อลิตร 4. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร และ 5. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
หลังจากนั้น ตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 ถึง 30 ก.ย.2564 เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
และ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 จนถึงวันที่ 30 ก.ย2566 เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมแต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
ขณะที่ตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป ครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร