ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
‘ค้าปลีกไทย’2562-ซึมถึงทรุด! เอกชนแนะโจทย์ที่รัฐต้องแก้
‘ค้าปลีกไทย’2562-ซึมถึงทรุด! เอกชนแนะโจทย์ที่รัฐต้องแก้ – ณวันนี้ ผ่านมาเดือนกว่าๆ และมองยาวไปทั้งปี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังดูลุ่มๆ ดอนๆ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก เห็นได้จากในปี 2561 ขยายตัวเพียง 3.1% ซึ่งเดิมทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ประเมินทั้งปี 2561 ภาคค้าปลีกจะเติบโต 4.0-4.2% เพราะครึ่งปีแรกของปีมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น แต่กลับชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องมาจนถึงครึ่งปีแรกของปีนี้
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาคค้าปลีกในครึ่งปีแรกของปีนี้คงหวังไม่ได้กับ “มาตรการ อั่งเปาช่วยชาติ” ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการจับจ่ายกว่าแสนล้านบาท จากที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการกว่า 6 ล้านคน ข้อมูลล่าสุดมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพียงหลักหมื่นคน จับจ่ายเหลือแค่หมื่นล้านบาท
เมื่อรวมการเลือกตั้งที่จะมีเงินสะพัดราว 50,000 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งปีแรก จะมีเงินสะพัดเพียง 60,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างน้อย จากที่เคยคาดว่าอยู่ระดับ แสนล้านบาท ภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกคงจะไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างไร
คาดการณ์ครึ่งปีหลังความไม่ชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หากเร่งประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นได้ภายในไตรมาสหนึ่ง ผลจากการลงทุนจะส่งผลต่อการเติบโตต่อภาคค้าปลีกในปลายไตรมาสที่สาม-สี่ แต่หากไม่เป็นตามแผน ครึ่งปีหลังก็คงจะ “ซึม ถึง ทรุด” บางกลุ่มประเภทธุรกิจ
โดยรวมดัชนีค้าปลีกปีนี้อาจจะทรงตัวหรืออาจจะต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ ปี 2561 ซึ่งการเติบโต ในปีนี้ น่าจะอยู่ราว 3.0-3.1% น้อยกว่าจีดีพีทั้งประเทศ ที่คาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตราว 3.5-4.0%
กล่าวโดยสรุปแล้วสถานการณ์ค้าปลีกในปีนี้ ตัวแปรสำคัญมาจาก
1.ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 ทุกสถาบันต่างเห็นตรงกันว่า จะขยายตัวในแบบชะลอจากปี 2561 ส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัวลงอย่างชัดเจน
2.การเติบโตของภาคการส่งออก มีผลโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชน ส่งผลมายังภาคค้าปลีกทางอ้อม จากการจ้างงานเพิ่มขึ้นและการมีรายได้ในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 2562 น่าจะมีทิศทางที่เติบโตขึ้น แต่ยังขาดความชัดเจน
3.การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาการของ 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 หากยังคงเป็นไปตามแผนอาจทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจ เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น
4.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การให้ Visa on Arrival รวมถึงมาตรการ Double Entry Visa อาจจะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง แต่หากโครงสร้างภาษีนำเข้า ร้านค้าปลอดภาษีและอากรยังมีความบิดเบือน การจับจ่ายร้านค้าในเมืองก็ยังคงไม่เกิดผลดีต่อการเติบโต
5.สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร จากการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์อาจไม่เพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดโลก แต่อาจมีเพียงข้าวที่ทำรายได้ได้ดีในระดับหนึ่ง
6.เสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ธุรกิจค้าปลีกคงต้องเฝ้าติดตาม บรรยากาศโดยภาพรวม ส่งผลโดยตรงกับการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุนใน ปีต่อๆไป
จากตัวแปรดังกล่าว ทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปี 2562 ไว้ว่า กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางลงล่าง “ซึม” กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางขึ้นบน “ทรง” และทั้งภาคค้าปลีกยังคงต้อง “เสี่ยง” กับความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน
ขณะที่ นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเซ็นทรัล มองว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกยังไม่เห็นปัจจัยบวก ที่จะทำให้เติบโตได้มากกว่าในปีที่ผ่านมา ถ้าภาคค้าปลีกไม่เติบโตจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
โดยภาคการค้าปลีก-ค้าส่ง มีสัดส่วนจีดีพีด้านการผลิต 16.1% เป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริโภคค้าปลีก-ค้าส่ง มีสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าการบริโภคภาคเอกชน การขยายตัวของภาคค้าปลีก-ค้าส่ง นำการพัฒนาไปสู่จังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็น 16% ของการจ้างงานทั้งประเทศ
ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีความกังวลอย่างยิ่งว่า ภาคค้าปลีกอาจจะไม่สามารถรักษาระดับการลงทุนเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
จึงมีข้อเสนอ 8 มาตรการต่อภาครัฐบาล เพื่อกระตุ้นภาคค้าปลีกและการบริโภค ให้กลับมา
1.รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งอย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2.ควรศึกษาลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง ในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกา ชั้นนำ (ลักซ์ชัวรี่ แบรนด์) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น
3.สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยประกาศจัดงาน “ไทยแลนด์ แบรนด์เซล” เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงโลว์ซีซั่น ของการท่องเที่ยว หรือช่วงมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ด้วยการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรู กลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกา กระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศการจับจ่ายให้กลับคืนมา
4.ภาครัฐต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย
5. ปัจจุบันกลุ่มค้าปลีก ต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานรายชั่วโมงที่ไม่เพียงพอ ซึ่งยังมีกลุ่มที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มหลังเกษียณ ที่ไม่มีรายได้ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา 8 ชั่วโมง จึงเหมาะสมที่จะจ้างกลุ่มนี้เป็นรายชั่วโมง
ภาครัฐต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ผลักดันให้มีการออกกฎระเบียบค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง ให้สามารถจ้างงานบุคคลกลุ่มดังกล่าว ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้พนักงานที่ไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา หากทำงานเป็นรายชั่วโมง จะต้องมีรายได้ต่อวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งหมายความว่า หากจะจ้างพนักงานรายชั่วโมงทำงาน 4 ช.ม. ก็ต้องจ้าง 300-360 บาท ตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน
6.นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษี ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 15,000 บาท และขอให้พิจารณากรณีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท ให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดที่ 15,000 บาท เพราะหากค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เลย และสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมง ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงได้
7.ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-บริการ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระบบทวิภาคี ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษี ฯลฯ อีกทั้งภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุน การนำคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นมาตรฐานการจ้างงาน
8.มีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน ผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ เพิ่มจำนวนด่าน รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้าน เดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้เส้นทางบก
นับเป็นมาตรการแห่งความหวังของวงการค้าปลีก ที่รอคอยการตอบสนองจากภาครัฐ
แต่ในระหว่างนี้ก็ต้องสู้ด้วยตัวเองเพื่อไปต่อ และฝ่าฟันอุปสรรคของการ “ซึมยาว” ไปให้ได้