“พีดับบลิวซี”แนะเอกชนรับมือสรรพากรตรวจเข้มภาษีให้สอดคล้องมาตรฐานโลก

นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (พีดับบลิวซี) กล่าวในงานสัมมนากฎหมายและภาษีประจำปีครั้งที่ 18 ในหัวข้อ ‘การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงมาตรการจัดเก็บภาษีในระดับสากล’ ว่า ปัจจุบันมาตรการด้านภาษีอากรทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายประเทศมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษีของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกและข้อกฎหมาย โดยประเด็นที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรให้ความสนใจ คือ การปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยเฉพาะ การย้ายฐานภาษีของบริษัทข้ามชาติจากประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงไปยังประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการตั้งราคาโอน การจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกรรมดิจิทัล และการเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบภาษีอากร ซึ่งกรมสรรพากรของไทยก็ได้มีการติดตามและดำเนินการในเรื่องต่างๆ เป็นระยะ

สำหรับมาตรการภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกและอาจส่งผลกระทบถึงภาคธุรกิจไทย คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ  ทางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (จี20) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา(โออีซีดี) ได้เริ่มมาตรการป้องกันการวางแผนทางภาษีที่มีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อไปเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่า ซึ่งหนึ่งในแผนปฏิบัติการของโออีซีดี คือ การตั้งราคาโอน ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลการตั้งราคาโอนระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือทั่วโลกมาใช้ ซึ่งบริษัทชั้นนำของไทยที่ไปการลงทุนในประเทศที่มีการนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้บังคับจะต้องจัดทำข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานภาษีในประเทศนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันกรมสรรพากรไทยยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในอนาคต แต่ก็อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ร่างกฎหมายการตั้งราคาโอนฉบับใหม่ ดังนั้น  จึงจำเป็นที่ผู้เสียภาษีที่ประสงค์จะวางแผนภาษี จะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในทางการค้า และเนื้อหาการดำเนินธุรกิจเพื่อให้การวางแผนภาษีมีความโปร่งใสมากขึ้น

นาย สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า กรมสรรพากรยังได้เพิ่มมาตรการการตรวจสอบโดยวิธีการออกหมายเรียกมากขึ้น ซึ่งถือเป็นวิธีการตรวจสอบภาษีที่เข้มงวดกว่าการตรวจสภาพกิจการ และการตรวจเฉพาะประเด็นที่เคยใช้อยู่เดิม มาตรการดังกล่าว จะช่วยทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีหากถูกประเมินภายใต้หมายเรียกตรวจสอบ เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กรมสรรพากรไทยก็อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax filing) เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกรรมดิจิทัลที่มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้เสียภาษีควรเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายและการตีความของกรมสรรพากรที่เกี่ยวกับธุรกรรมดิจิทัลเป็นพื้นฐาน เพื่อใช้ประเมินและจัดการกับผลกระทบที่มีต่อการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีในอนาคตด้วยเช่นกัน

 

ที่มา  มติชนออนไลน์