กก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเสนอ 13 เม.ย. ทุกปี ห้ามขายเหล้า!

กก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเสนอ 13 เม.ย. ทุกปี ห้ามขายเหล้า!

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ได้มีการพิจารณามาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 ซึ่งจากข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555-2559 พบว่ามีอัตราการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากการจราจรทางถนนที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเป็นผู้ดื่ม 44,590 คน คิดเป็นร้อยละ 32.5 จากจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น 137,385 คน

โดยพบการบาดเจ็บ และเสียชีวิตสูงสุดในวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีมากที่สุด ทั้งนี้พบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่เกินค่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่กำหนด สูงถึงร้อยละ 80 สำหรับวันอื่นๆ ในเทศกาลสงกรานต์พบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตไม่ได้แตกต่างจากวันปกติ

“ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้วันที่ 13 เป็นวันงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับการห้ามจำหน่ายในวันพระใหญ่ โดยจากนี้จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เม.ย. นำร่องก่อน หากพบว่าได้ผลดีจะมีการเสนอให้มีการประกาศงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เม.ย.ของทุกปีต่อไป” นพ.สุขุม กล่าว

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลอื่นๆ อีก เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การกำหนดช่วงเวลาจำหน่าย การจัดโซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์ เป็นพื้นที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจร่วมดำเนินการกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกจังหวัด เน้นการแยกผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ให้มีการขับขี่ยานพาหนะ

“รวมทั้งขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารรณสุข และหน่วยราชการในสังกัดอื่นๆ ขอให้งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำได้ตามที่กฎหมายกำหนด ดื่มเพื่อสังสรรค์ ดื่มแล้วไม่ขับขี่ยานพาหนะเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และคนอื่น และต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ถึงเราไม่เมา แต่ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร” นพ.สุขุมกล่าว