‘สมคิด’ สั่งระงับนำเข้ามะพร้าว หลังเกษตรกรร้องราคาดิ่งกว่าต้นทุน 7 บาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2562 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติระงับการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ จนกว่าราคามะพร้าวภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นหรือ ตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว และเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว โดยไทยมีช่วงระยะนำเข้ามะพร้าว 4 เดือน หรือ 2 ช่วง คือ ในช่วงเดือน เม.ย.–พ.ค. โดยใช้ผลการรับซื้อมะพร้าวในประเทศเดือน ม.ค.–มี.ค. และช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. โดยใช้ผลการรับซื้อมะพร้าวในประเทศเดือน มิ.ย.–ต.ค.

ทั้งนี้การระงับการนำเข้ามะพร้าวเพื่อผลักดันราคาในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น โดยมติการระงับการนำเข้า จะมีการระงับการพิจารณาคำขอนำเข้ามะพร้าวทุกกรณี โดยสนับสนุนให้ใช้มะพร้าวในประเทศให้หมดก่อน จึงจะมีการพิจราณาให้มีการนำเข้าภายหลัง หรือหากในเดือน เม.ย. ราคามะพร้าวปรับตัวดีขึ้น ก็จะมีการพิจารณาการนำเข้าอีกครั้ง ส่วนผลผลิตในประเทศปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณ 884,756 ตัน เพิ่มขึ้น 27,836 ตัน หรือ 3.25% จากปี 2561 ที่มีผลผลิตรวม 856,920 ตัน

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการระงับการนำเข้ามะพร้าว เพื่อให้ใช้ผลผลิตในประเทศ และคาดหวังว่า ราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้มากกว่าต้นทุน 7 บาท/ลูก หากราคาปรับสูงกว่าต้นทุนแล้ว คณะกรรมการฯจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการนำเข้า หรือระงับการนำเข้าต่อ ทั้งนี้ต้องดูผลผลิตในประเทศก่อน จึงจะพิจารณาการนำเข้า ขณะนี้ราคามะพร้าวอยู่ที่ 5-6 บาท/ลูก ซึ่งชาวสวนมะพร้าว ยังประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องและยาวนาน

ส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบ ตามที่ได้มีการดําเนินการป้องกันการลักลอบและนําเข้ามะพร้าวผิดกฎหมาย โดยกําหนดให้สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยกําหนดให้เป็นสินค้านําเข้า ที่ต้องทําการเปิดตรวจทุกกรณี ต้องนําไปผ่านการเอ็กซเรย์ และชั่งน้ำหนักทุกตู้สินค้า ที่นําเข้า รวมถึงควบคุมสินค้ามะพร้าวให้นําเข้าเพียง 2 ท่าเรือเท่านั้น คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง โดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 5(6) ของพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522

ทั้งนี้ ได้กําหนดให้สินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าควบคุม และกําหนดมาตรการกํากับดูแลการเคลื่อนย้าย เพื่อให้การป้องกันการลักลอบและนําเข้ามะพร้าวผิดกฎหมาย ในภาพรวมมีความรัดกุมมากขึ้น หากมีมติเห็นชอบให้มีการนำเข้า จะมีการเสนอให้จัดตั้งคณะทํางานแก้ไขปัญหาการนําเข้ามะพร้าวผลและผลิตภัณฑ์ ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดยจะมอบหมายฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ยก (ร่าง) คําสั่งเสนอประธานคณะกรรมการฯต่อไป

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์