พาณิชย์ ยกระดับคุ้มครอง ‘ปลากัดไทย’ หลังเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย

พาณิชย์ ยกระดับคุ้มครอง ‘ปลากัดไทย’ ทั้งในและต่างประเทศ รับลูกมติ ครม. ประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562 เห็นชอบให้ปลากัดไทย ซึ่งมีชื่อสามัญว่า “Siamese Fighting Fish” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

เช่น การจัดทำฐานข้อมูลทางชีวภาพของสายพันธุ์ปลากัดไทย เพื่อใช้ในการอ้างอิงสายพันธุ์ปลากัดไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559
เป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ กระทรวงพาณิชย์ เห็นถึงความสำคัญและจำเป็น ในการคุ้มครองปลากัดไทย ในฐานะที่เป็นทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources) ของไทย ทั้งในระดับประเทศและระดับดับสากล

น.ส.ชุติมา กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมของไทย กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่..) พ.ศ. … ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2562

โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง กำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ที่มีการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมนั้น ในคำขอรับสิทธิบัตร เพื่อป้องกันปัญหาการขโมยทรัพยากรพันธุกรรม ไปใช้ประโยชน์โดยไม่ชอบ หรือที่เรียกว่า ปัญหาโจรสลัดชีวภาพ (Bio-Piracy)

นอกจากนี้ ไทยยังเดินหน้าเจรจา เร่งรัด และผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ด้านการคุ้มครองทรัพยากรทางพันธุกรรมภายใต้กรอบองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) โดยหากการเจรจาจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและ ชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมเป็นอย่างมาก

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกภาพ ที่จะใช้สัญลักษณ์ เพื่อมาใช้เพื่อทั่วโลกเห็นภาพนี้ ก็จะรู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ส่วนกรณีที่มีชาวต่างชาติจะนำปลากัดไทยไปจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่ออ้างความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่นั้น กฎหมายสิทธิบัตรไทย ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า สัตว์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ แต่หากเป็นการคิดกรรมวิธีใหม่ เช่น กรรมวิธีใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ก็จะสามารถนำมาขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ซึ่งผู้ประดิษฐ์หรือนักวิจัยไทยก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน”

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ส่วนในต่างประเทศ แม้มีบางประเทศที่อนุญาตให้นำสัตว์ไปจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ แต่ก็มีกระบวนการคัดค้าน และเพิกถอนการจดทะเบียน ตามขั้นตอนของกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ อยู่ ดังนั้น หากมีการนำสัตว์ที่เป็นทรัพยากรพันธุกรรมของไทย เช่น ปลากัดไทย ไปจดทะเบียนสิทธิบัตรในต่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการคัดค้าน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนตามขั้นตอนของกฎหมายได้

โดยหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์ จะได้กำชับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ให้เร่งประชาสัมพันธ์และแจ้งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศต่างๆ ทราบว่า ปัจจุบัน ปลากัดไทย เป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย ซึ่งไม่ควรมีบุคคลใด นำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่ออ้าง ความเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญายังอยู่ในระหว่างดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ประโยน์ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำทรัพยากรพันธุกรรมของไทยไปใช้โดยไม่ชอบ

“ขณะนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติแล้ว จึงขอให้หน่วยงาน และองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านทรัพยากรพันธุกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนคนไทยทุกคน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและเฝ้าระวัง ไม่ให้มีการขโมยทรัพยากรพันธุกรรมของไทย เช่น ปลากัดไทย ไปใช้โดยไม่ชอบ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการป้องกันปัญหาโจรสลัดชีวภาพไม่ให้เกิดขึ้น และเป็นการรักษาสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางวัฒนธรรมไว้ให้ลูกหลานของไทยสืบไป” นายทศพล กล่าว