กทม.เตรียมแผนรับมือ อากาศปิด 6-8 ก.พ. กับ 13-15 ก.พ. ฝุ่นพิษ มาอีกระลอก

ฝุ่นพิษ / เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. แถลงผลภายหลังเป็นประธานประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 3 ว่า ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้รายงานในที่ประชุมถึงสถานการณ์คุณภาพอากาศตลอด 4-5 วัน ภายหลังกทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแผนปฏิบัติการแก้มลพิษทางอากาศ พบช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ยังมีค่าไม่คงที่ บางวันมีค่าสูงและต่ำกว่ามาตรฐาน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน

สำหรับวันนี้พบมีค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น จากเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา เกินมาตรฐาน 1 พื้นที่ ซึ่งอยู่ในระดับสีส้ม ได้แก่ บริเวณเขตบางเขน มีค่า 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก.ต่อลบ.ม.) ส่วนพื้นที่อื่นพบมีค่าฝุ่นละอองต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก.ต่อลบ.ม.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แจ้งว่าระหว่างวันที่ 6-8 ก.พ. และ 13-15 ก.พ. สถานการณ์ฝุ่นละอองอาจมีแนวโน้มรุนแรง เนื่องจากอากาศจะปิด

อย่างไรก็ตาม กทม.ประชุมติดตามสถานการณ์แก้ไขฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกทม.และปริมณฑล ที่ห้องประชุมชั้น 10 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. 2 (ดินแดง) เพื่อติดตามสถานการณ์ และเตรียมแผนปฏิบัติการลดฝุ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ตลอดช่วงที่มีอากาศปิด กทม.จะประสานไปยังโรงเรียนการบินกรุงเทพอีกครั้ง เพื่อนำเครื่องบินเล็กฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศทุกชั่วโมง พร้อมกำหนดเส้นทางการบินในบริเวณเดิม และเพิ่มเส้นทางการบินให้ครอบคลุมพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 มีค่าสูงเกินมาตรฐาน ขณะที่ทางโรงเรียนการบินกรุงเทพมีความยินดี พร้อมสนับสนุนเครื่องบินเล็กและอุปกรณ์ร่วมปฏิบัติการแก้มลพิษทางอากาศ

สำหรับผลปฏิบัติการนำเครื่องบินเล็กขึ้นบินจากสนามบินคลอง 15 เพื่อพ่นละอองน้ำระหว่างวันที่ 2-4 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังมีข้อจำกัดของเงื่อนไขการบิน เช่น เส้นทางการบินในเขตพื้นที่ห้ามบิน การจราจรทางอากาศที่ต้องไม่กระทบต่อเส้นทางการบินของสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การบินฉีดพ่นละอองน้ำเป็นการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาว อยู่ระหว่างการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นประธาน เพื่อกำหนดเป็นมาตรการถาวรเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป

ด้าน นายสมชาย จึงมีโชค ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงแนวทางดำเนินการด้านอนามัยและสาธารณสุข เพื่อลดผลกระทบฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ดังนี้ 1. ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพและให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนทุก 5 เขต ทุกเสาร์-อาทิตย์ ตลอดเดือนก.พ.-มี.ค. ซึ่งการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 2-3 ก.พ. มีประชาชนเข้ารับบริการถึง 909 คน

ส่วนอาการที่พบจากการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ยูอาร์ไอ) 172 คน โรคภูมิแพ้ 32 คน ผื่นคันตามผิวหนัง 6 คน เยื่อบุตาอักเสบ 4 คน หอบหืด 3 คนและอาการอื่นๆ 115 คน 2. การดำเนินการติดตั้งสปริงเกลอร์ช่วยพ่นละอองน้ำจากอาคารสูงของโรงพยาบาลสังกัดกทม. รวม 9 แห่ง

ซึ่งเริ่มติดตั้งแล้ว 3. จัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อให้แก่ผู้รับบริการในโรงพยาบาล เช่น การติดโปสเตอร์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากฝุ่นละออง แผ่นพับ รวมถึงแจกหน้ากากอนามัย ฯลฯ และ 4. ผลิตสื่อเผยแพร่ผ่านสื่อกระแสหลัก โดยผลดำเนินการที่ผ่านมาพบประชาชนมีความตระหนักรู้และเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น