คร. เตือนผู้ป่วยภูมิแพ้ เสี่ยงสุดรับฝุ่น PM2.5 กระตุ้นก่อโรคมากกว่าคนทั่วไป

คร. เตือนผู้ป่วยภูมิแพ้ เสี่ยงสุดรับฝุ่น PM2.5 กระตุ้นก่อโรคมากกว่าคนทั่วไป ข้อมูลอุบัติเหตุช่วงปัญหาฝุ่นพบมากขึ้นกว่าเดิม 20% ในพื้นที่ กทม. ย้ำช่วงนี้พบ “หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก” สูง เป็นช่วงทับซ้อน ฝุ่นไม่ใช่เหตุหลัก สำนักระบาดตั้งระบบเฝ้าระวัง ศึกษาโรครับผลกระทบจากฝุ่นพื้นที่กทม.

เตือนผู้ป่วยภูมิแพ้ – วันที่ 4 ก.พ. ที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค เสวนาวิชาการดีดีซี ฟอรั่ม (DDC Forum) “การเฝ้าระวังสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่มาตามช่วงฤดูกาล”

โดย นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้หลายคนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า มาจากฝุ่นทั้งหมด แต่ฝุ่นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ อย่างหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดหัวใจ

แต่ยังมีอีก 2 โรคที่มีความทับซ้อนกับปัญหาฝุ่นละออง เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่พบโรคอยู่แล้วด้วย คือ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก อย่างโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากป่วยด้วยแล้ว และได้รับฝุ่นละอองด้วยก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจได้ แต่หลายคนก็มีอาการแสบตา แสบคอจากฝุ่น แต่ไม่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไม่มีไข้ขึ้นสูง ก็จะไม่ป่วยจากไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแยกดีๆ เพราะจะเกิดความเข้าใจผิดได้

สิ่งสำคัญคือ เราถูกฝุ่น แต่หากเราไม่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ เราก็ไม่ป่วย ส่วนไข้เลือดออก การติดเชื้อจะเป็นยุงลายเป็นพาหะ คือ ไม่อยากให้กังวลแต่ฝุ่น ควรดูแลสุขภาพและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโรคอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะ 2 โรคนี้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่เราจะพบได้มากขึ้น ไม่ใช่ว่ากลัวฝุ่นปิดบ้าน แต่ภายในบ้านไม่ดูแลความสะอาด ไม่ร่วมทำลายลูกน้ำยุงลายก็เสี่ยงเกิดโรคได้ ซึ่งโรคไข้เลือดออก ข้อมูลเดือนม.ค. 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 2,834 ราย เสียชีวิต 2 ราย และอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่อีก 3 ราย

ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่เฉพาะเดือนม.ค. 2562 ป่วยแล้ว 16,058 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนพบมากที่สุดกลุ่มอายุ 7-9 ปี รองลงมาอายุ 10-14 ปี จึงอยากให้ทุกคนตระหนักและดูแลสุขภาพ ยึดหลัก ปิด ล้าง เลี่ยงหยุด คือ ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอจาม ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย และหยุด เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม หากมีไข้สูง หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมากๆ ควรไปพบแพทย์” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เมื่อรับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มากๆ จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงป่วยจนรับเชื้อทั้ง 2 โรคง่ายขึ้น นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า จีนก็เคยมีปัญหาเหมือนไทยเช่นกัน อย่างช่วงหนึ่งก็มีปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะต้องมีคนแพร่เชื้อ ในขณะที่หากรับฝุ่นในเวลาเดียวกันก็จะมีการระคายเคืองทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น เหมือนคนเป็นภูมิแพ้ จะมีโอกาสป่วยด้วยโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนไม่เป็นภูมิแพ้ แต่การเพิ่มของโรคก็ไม่ได้มาก ดังนั้นหากถูกฝุ่น แต่ไม่ได้รับการติดเชื้อก็จะไม่ป่วย จึงอย่ากังวล สิ่งสำคัญต้องป้องกันไม่ให้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือถ้าใครป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ก็ต้องรู้จักป้องกันไม่แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา มีการตั้งระบบเฝ้าระวัง เพื่อดูว่าสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เบื้องต้นจะโฟกัสในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยช่วงนี้ข้อมูลยังไม่นิ่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังหาหลักฐานข้อมูลทางวิชาการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามโรคที่อาจจะได้รับผลกระทบจากฝุ่น คือหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่เหตุการณ์การป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ได้แปลว่าทุกคนได้รับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แต่โดยปกติความเสี่ยงของคนเมื่อถึงเวลาอาจมาจากโรคเองด้วย ซึ่งหากได้รับข้อมูลที่กำลังทำอยู่ ก็จะทำให้ทราบว่า กรณีจากฝุ่นมีส่วนทำให้อาการโรคเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร โดยขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ เพื่อจะได้วางระบบการเฝ้าระวังและป้องกันมากขึ้น

พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลายคนกังวลว่า คนที่อาศัยอยู่บนตึกสูงจะมีความเสี่ยงได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มากกว่าคนที่อยู่ชั้นล่างหรือไม่ จริงๆ แล้ว หากเป็นคอนโดมิเนียม ที่อยู่ติดถนนก็มีความเสี่ยงได้รับฝุ่นละอองมากกว่าคอนโดมิเนียมที่อยู่ห่างจากถนนอยู่แล้ว ซึ่งจากการวัดค่าฝุ่นละอองที่ชั้น 28 ของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องฟิตเนส พบว่า ค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แล้วเมื่อขยับลงมาอีก 5 ชั้นพบว่าปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 2-3 มคก./ลบ.ม. ถือว่าค่าฝุ่นละอองไม่ได้ต่างกันมาก และไม่ได้เกินมาตรฐาน ดังนั้นไม่อยากให้กังวลกัน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ติดถนน แต่ก็ขอให้หมั่นทำความสะอาดบ้าน

ด้าน คุณนงนุช ตันติธรรม รองผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า จากข้อมูลบริษัทกลางที่มีการสถิติการเกิดอุบัติเหตุพื้นที่กทม. 2 ช่วงคือระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. และหลัง 15-31 ม.ค. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประกาศค่าฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยนำมาเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า ทั้ง 2 ช่วงมีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ยอดเจ็บ และเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งยังไม่ได้มีการศึกษาโดยละเอียดว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่

แต่มีข้อสังเกตว่าเกิดจากปัญหาฝุ่นละออง ที่ทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นไม่ดีหรือไม่ เพราะเพิ่งมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากฝากคือ จะพบคนขับมอเตอร์ไซค์สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น แต่กลับไม่สวมหมวกกันน็อก ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะมีข้อมูลว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นคนที่ไม่สวมหมวกจะเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรงกว่าคนที่สวมหมวกถึง 6 เท่า