ภาคเอกชนสะท้อนมุมมอง “เศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง”

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง” และปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจไทยกับการลงทุนใน EEC” โดยมีนักวิชาการและนักลงทุนในแวดวงเศรษฐกิจหลายท่านเดินทางมาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยกับการลงทุนใน EEC เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ว่า

“เศรษฐกิจไทยมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก และขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนตัวลงจากการที่สหรัฐอเมริกาเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศจีน ในเรื่องของ เทรดวอร์ หรือสงครามการค้า”

ซึ่งในปีที่ผ่านมีข้อมูลการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกตั้งอยู่ที่ประมาณ 4% แต่ในปี 62 นี้คาดการณ์ว่าอยู่ที่เพียง 3.8% เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซาลง

และนโยบาย EEC ก็มีมาตรการสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การวางแผนสร้างศักยภาพภายในประเทศ เพื่อทดแทนความอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเป็นการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ระบุ

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของนโยบาย EEC มีทั้งหมด 3 ด้าน ส่วนแรก คือ ทางด้านโลจิสติกส์หรือการขนส่ง ต่อมาเป็นด้านอุตสาหกรรมและการค้า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงด้านชุมชนและการท่องเที่ยว ซึ่งในด้านของโลจิสติกส์และการขนส่ง จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนกับญี่ปุ่น ที่เล็งเห็นช่องทางการลงทุนของโครงการ EEC ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าความเร็วสูงและท่าเรือ

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจกับการเลือกตั้ง ดร.คณิศ ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกค่อนข้างอ่อนไหวมาก เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อสร้างสมดุลให้มีการขยายตัวภายใน โดยเฉพาะโครงการ EEC และการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 นี้ ที่จะสร้างความร่วมมือของประเทศในเอเชียเข้ามาด้วยกัน เป็นการป้องกันความสั่นไหวด้านความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งโครงการ EEC  ในขณะนี้ได้ดำเนินการไปถึงระยะที่ 3 แล้ว และไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะกดดันต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรก็ตาม ยังมี 2% ของ EEC ที่เป็นเกราะป้องกัน ซึ่งคาดการณ์ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้จะไม่ตกต่ำลงอย่างแน่นอน

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์

ด้าน รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง โดยมีมุมมองในด้านของปัจจัยบวกและปัจจัยลบ สำหรับปัจจัยบวกส่วนของการท่องเที่ยวจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น การลงทุนของภาครัฐมีการวางแผน ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว เกษตรกรดีขึ้นในบางส่วน  ทางด้านปัจจัยลบก็คือ ”เทรดวอร์” ของสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีความปั่นป่วน อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นครั้งแรกในไทย วิกฤตค่าเงินมีความผันผวนสูง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า แต่คาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตมากยิ่งขึ้นถึง 4% หากผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจที่ขยายมากขึ้นจะอยู่ในส่วนของการบริการมากที่สุด

รศ.ดร.เสาวนีย์ ยังกล่าวอีกว่า “เรื่องความมั่งคั่งไทยยังดีอยู่มาก ไม่ว่ามีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่การเลือกตั้งจะทำให้ GDP สูงขึ้น หากรัฐบาลได้รับการยอมรับและมีเสถียรภาพ”

ทางด้านของ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย/นายกสมาคมนักวิเคราะห์ลงทุนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้งไปในทิศทางเดียวกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบเช่นเดียวกัน หากคาดหวังถึงการลงทุนภาคเอกชนการเลือกตั้งมีความจำเป็นและสำคัญมาก แต่การคาดเดาผลเป็นเรื่องยากกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแบบกติกาใหม่ รัฐบาลที่เข้ามาอาจจะเป็นรัฐบาลแบบผสม

คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร

นอกจากนี้คุณไพบูลย์ ยังกล่าวว่า “คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีผลเป็นอย่างมากกับเศรษฐกิจถ้าหากไม่เลือกตั้งการลงทุนต่างๆ ที่ได้ทำไว้จะมีการชะลอผล เพราะธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องการ ถ้าหากรัฐบาลหน้าไม่ดำเนินการต่อก็จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน และถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สำคัญ เพราะมีความท้าทายสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ถ้าตลาดทุนไม่แข็งแรงก็จะกระทบเศรษฐกิจ เพราะตลาดทุนคือแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและให้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกที่สุด ทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศเรามีรายได้เข้ามากน้อยเพียงใด”

ในส่วนของ คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แสดงความคิดเห็นในเวทีดังกล่าวว่า ธุรกิจการค้ากับการส่งออกยังคงดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ การส่งออกจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจะต้องดูที่เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ในด้านของการส่งออกมองเศรษฐกิจกับนโยบายต่างประเทศมากกว่าในประเทศ สำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

คุณกัณญภัค กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความคาดหวังสูงในเรื่องของการส่งออก เพราะมีความต้องการที่จะเห็นการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการส่งออกมากยิ่งขึ้น ในขณะนี้การขนส่งภายในประเทศกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับความแออัดทั้งขนส่งทางบกและทางน้ำ ทั้งยังประสบปัญหาในเรื่องต้นทุนของการส่งออกที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ในด้านนี้หากมีการเลือกตั้ง รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยผลักดันการส่งออกให้ดีขึ้นและลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกได้อย่างไร ซึ่งคุณกัณญภัคยังกล่าวไว้อีกว่า

ส่วนในด้านการลงทุนประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ถ้าหากการเลือกตั้งมีความมั่นใจ คาดว่าการลงทุนจะประสบผลสำเร็จดี และจะมีนโยบายปรับปรุง พัฒนาแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ให้ยั่งยืน

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

ด้าน คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในมุมมองของผู้ค้าปลีกเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้งสอดคล้องกันกับ รศ.ดร.เสาวณีย์ และ คุณไพบูลย์ ว่า  ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลทั้งด้านปัจจัยบวกและปัจจัยลบ เนื่องจากทุกครั้งที่ภายในประเทศมีการแข่งขันทางการเมือง ตัวเลขของจำนวนการซื้อขายปลีกจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ  อย่างในปีที่ผ่านมามีนโยบาย “ช้อปช่วยชาติ” ของรัฐ  ส่วนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 62 นี้ ยังมีนโยบาย “อังเปาช่วยชาติ” สำหรับคืนภาษี 5% ให้กับประชาชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยลบ คุณวรวุฒิ ได้กล่าวถึงตัวเลขของ GDP ที่มูลค่ารวมของสินค้าและบริการภายในประเทศอยู่ที่ 4% แต่ในทางการค้าปลีกจริง ๆ อยู่ที่เพียง 3% ซึ่งผิดปกติ ภายในประเทศได้รับเงินจากนักท่องเที่ยวเพียงแค่ในส่วนของค่าเดินทางและค่าอาหาร แต่ไม่ได้ในส่วนของการซื้อสินค้า เนื่องจากมีภาษีสูง ซึ่งเมื่อภายในประเทศมีสรรพสามิตที่สูง จึงทำให้คนไทยหันไปช็อปปิ้งสินค้าปลอดภาษีมากขึ้น ในอีกทางหนึ่งก็มีในส่วนของสินค้าออนไลน์อีกด้วย แต่เป็นเพียงส่วนน้อย

คุณวรวุฒิ ยังบอกอีกว่า “การเลือกตั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ส่วนในระยะยาว คือ โครงสร้างภาษี และการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีภายในไทยจะต้องไม่เป็นสินค้าผูกขาด เนื่องจากประเทศไทยกำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากในด้านของการค้าสินค้าปลอดภาษี และยังเป็นประเทศท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

จากหลากหลายความคิดเห็นในเรื่องของเศรษฐกิจกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เมื่อได้ฟังนักวิชาการในแวดวงธุรกิจหลายท่านบอกกล่าวเล่าถึงสถานการณ์ในขณะนี้แล้ว คงจะพออุ่นใจได้บ้างว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงใดๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ซ้ำยังมีปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดียิ่งขึ้นไปอีก