ครั้งแรก! กทม.เริ่มบินโดรนฉีดละอองน้ำ แก้วิกฤต ฝุ่นพิษ 6 จุดทั่วกรุง

เริ่มแล้ว!กทม.ใช้โดรนบินฉีดละอองน้ำลดปัญหาฝุ่นพิษ 6 จุดทั่วกรุง ผู้ว่าฯ เผยกรณีใช้น้ำผสมกากน้ำตาลฉีดพ่นนั้นจะใช้ในพื้นที่การเกษตรเท่านั้น เพราะจะเหนียวเหนอะหนะ ลั่นใช้โดรนบินฉีดน้ำช่วยลดฝุ่นได้ 20-30% ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แม้จะมีคนบอกว่าไร้ประโยชน์ 

ฝุ่นพิษ / เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนหน่วยปฏิบัติการแก้วิกฤตมลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร โดยมี คณะผู้บริหาร กทม. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) สำนักสิ่งแวดล้อม (สวล.) สำนักงานเขตพื้นที่กทม. และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งชมรมโดรนเพื่อการเกษตร

พร้อมกับนำโดรนมาจากจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ เพื่อปฏิบัติการลดฝุ่นละอองในอากาศพื้นที่วิกฤต 6 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร เริ่มจากจุดแรกที่ฐานบินบริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกทม. ก่อนจะย้ายฐานการบินไปยังจุดอื่นจบครบ โดยการบินโดรนเพื่อการเกษตรลดบรรเทาฝุ่นละอองครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในกทม.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 50 ไมครอน (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา กทม.ประกาศให้โรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 โรงเรียนหยุดการเรียนการสอนจนถึงวันที่ 1 ก.พ. เพื่อลดการเข้าสัมผัสมลภาวะฝุ่นละออง และลดปัญหาการจราจรของผู้ปกครองที่เดินทางรับ-ส่งเด็กนักเรียน

ขณะที่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยังคงจำเป็นต้องเดินทางไปสอบโอเน็ต นอกจากนี้ กทม.ประสานไปยังชมรมโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งมีโดรนอยู่จำนวน 50 ตัวมาร่วมปฏิบัติการขึ้นบินฉีดน้ำพ่นละอองในอากาศเพื่อช่วยดูดจับฝุ่นละออง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 ก.พ.ด้วย โดยกทม.จะรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้แก่ทางชมรม ควบคู่กับการประเมินสถานการณ์และตรวจวัดคุณภาพอากาศทุก 3-5 ชั่วโมงเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง

 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า การปฏิบัติแก้วิกฤตครั้งนี้จะเป็นการลดฝุ่นละออง 3 ระดับความสูง ได้แก่ ระดับบนสุดใช้โดรนจะบินฉีดพ่นละอองน้ำ โดยโดรนแต่ละเครื่องมีรัศมีทำการบินประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และสามารถบรรทุกน้ำได้ 5-10 ลิตร ก่อนจะขึ้นไปฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ ซึ่งแต่ละครั้งสามารถบินได้ประมาณ 15-20 นาที โดยใช้ความสูง 50 เมตร จากนั้นจะลงมาเปลี่ยนแบตเตอรี่และเติมน้ำสำหรับฉีดพ่น

ส่วนระดับที่ 2 รถน้ำพร้อมอุปกรณ์จาก สปภ. และสวล. จะฉีดฝอยละอองน้ำขึ้นไปอากาศ และระดับที่ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดของสำนักงานเขตจะกวาด และล้างทำความสะอาดบนพื้นจราจร ทางเท้าและพื้นที่สาธารณะทั่วไป

สำหรับการบินขึ้นฉีดพ่นน้ำละอองในอากาศของโดรนจะใช้น้ำสะอาดเท่านั้น โดยมี สปภ.ร่วมสนับสนุนภารกิจ

ส่วนก่อนหน้านี้ที่กทม.ระบุว่าจำเป็นต้องใช้น้ำผสมน้ำตาลเพื่อฉีดพ่นนั้น ทางชมรมโดรนเพื่อการเกษตรแจ้งว่าจะใช้ในพื้นที่การเกษตรเท่านั้น หากนำมาฉีดพ่นในกทม.อาจยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากจะมีสีค่อนข้างเข้มหรือดำและมีคราบกากน้ำตาลตกลงบนพื้นด้วย

โดยวันนี้ทางชมรมนำโดรนมาร่วมบินปฏิบัติการจำนวน 5 ลำก่อนทยอยลำเลียงมาจนครบ โดยคณะการบินโดรนจะตั้งฐานการบิน 6 จุด ได้แก่ ฐานบินบริเวณลานคนเมือง ฐานบินบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน) ฐานบินมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ฐานบินสวนจตุจักร จะบินบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ฐานบินสวนลุมพินี จะบินบริเวณอนุสาวรีย์ร.6 และถนนพระราม 4 และ ฐานบินสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร เขตบางคอแหลม

โดยแต่ละจุดจะใช้เวลาในการปฏิบัติการ 1 ชั่วโมง 30 นาที-2 ชั่วโมง ส่วนโดรนที่จะขนย้ายมาเพิ่มเติม ทางชมรมวางแผนจะนำมาร่วมสนับสนุนแต่ละการบินแล้ว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤตเร่งด่วน ยังมอบหมายให้นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม.ออกคำสั่งด่วน (ว.8) ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ฉีดพรมน้ำและล้างต้นไม้ภายในสวนสาธารณะของกทม. เพื่อลดฝุ่นที่ดักจับเกาะตามใบไม้และกิ่งไม้

เบื้องต้นกทม.จะล้างต้นไม้ รวม 20 สวนแล้ว และจะดำเนินการให้ครบทุกสวนสาธารณะทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากกองทัพภาค 1 ในการร่วมสนับสนุนรถน้ำและอุปกรณ์ในการปฏิบัติการฉีดน้ำลดฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย กทม.ก็จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉีดน้ำทำความสะอาด ทั้งพื้นถนนและต้นไม้ภายในสวนต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

ผู้สื่อข่าวถามกรณีผู้ว่าฯกทม. จะใช้น้ำผสมกากน้ำตาลขึ้นไปฉีดพ่นเพื่อดูดจับฝุ่นละอองในอากาศ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า “ก็พูดไปแเล้ว เพราะเราไม่มีความรู้ไง แต่ก็ไปถามคนมีความรู้มา เขาก็บอกว่าการผสมกากน้ำตาลใช้กับไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้ไม่ได้ เพราะจะเหนียวเหนอะหนะและไม่มีวัชพืชและแมลง เพียงใช้น้ำสะอาดก็สามารถดักจับฝุ่นได้ โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM10 ที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ส่วน PM2.5 จะช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวยังถามอีกว่า การใช้โดรนบิน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจะช่วยกำจัดฝุ่นได้มากน้อยเพียงใด พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า คงไม่สามารถช่วยได้ 100 % แต่สามารถช่วยได้ 20-30 % ซึ่งยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ถึงแม้จะมีคนบอกว่าเป็นวิธีการที่ไร้ประโยชน์ แต่ยังดีกว่าปล่อยให้มีควันพิษอยู่ในอากาศ

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็เข้มงวดการปฏิบัติเพื่อช่วยลดมลพิษ เช่น กรมการขนส่งทางบก เข้ามาช่วยในการตรวจจับควันดำ และขสมก.ก็กวดขันการบำรุงรักษารถประจำทางให้อยู่ในสภาพดี ไม่ปล่อยมลพิษในปริมาณสูง ตำรวจก็เข้ามาจัดการจราจรไม่ให้คับคั่งนานๆ เฉพาะจุด ซึ่งกำชับ 50 เขตไปตรวจโรงงานและโครงการก่อสร้างต่างๆ ด้วย หากจุดใดสามารถลดระยะเวลาการทำงานได้ ก็ขอให้งดในระยะนี้

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 14.00 น.ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. โดยกทม.จะประชุมร่วมหน่วยงานทุกภาคส่วน อาทิ แพทยสมาคม ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอาคารสูง เป็นต้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกัน ยังจะหารือกับสถาบันการบินพลเรือน ซึ่งได้รับการประสานว่าจะสนับสนุนเครื่องบินขนาดเล็กในการช่วยพ่นละอองน้ำในอากาศด้วย

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์