ฝุ่นพิษมรณะ! ‘แพทย์’ ชี้ทำอายุสั้น-ตายรายวันสูงขึ้น ซัดรัฐแก้ปัญหาล้มเหลว

ฝุ่นพิษมรณะ! ‘แพทย์’ ชี้ทำอายุสั้น-ตายรายวันสูงขึ้น ซัดรัฐแก้ปัญหาล้มเหลว

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ชมรมลมวิเศษ ฯลฯ ร่วมแถลงข่าว “ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว” เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กำลังปกคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างหนาแน่น และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) แถลงว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีมานานกว่า 2 ทศวรรษ และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น มาตรการที่ใช้อยู่ยังไม่เพียงพอ หรือเรียกว่า “ล้มเหลว” ทั้งนี้ ค่าฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 3 ด้าน คือ 1.ทำให้อายุขัยสั้นลง มีการศึกษาจากประเทศจีนพบว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก./ลบ.ม./ปี จะทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี หากเทียบกับจำนวนประชากรโลกที่มีหลายพันล้านคน พบว่าประชากรโลกอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.8 ปี ขณะที่อินเดียอายุขัยสั้นลง 6 ปี

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยพบว่า จ.พะเยา ที่มีปัญหาฝุ่นควันพิษ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 5.6 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยได้ยินจากภาครัฐ ส่วนสาเหตุที่ทำให้อายุขัยสั้นลง มาจากการตายของหลายโรค ที่องค์การอนามัยโลกใช้เป็นตัวชี้วัด คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน โรคมะเร็งปอด และโรคปอดบวม ซึ่ง 4 โรคดังกล่าว ติด 5 อันดับ ตายสูงสุดของประเทศไทย รองจากอุบัติเหตุ และมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ สำหรับประเทศไทยชัดเจนว่า การเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ภาคเหนือตอนบนมากสุด ภาคใต้น้อยที่สุด ซึ่งทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับการจุดเผา

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวอีกว่า 2.การเสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้น ได้มีการศึกษาในปี 2016-2018 พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก./ลบ.ม. คนเชียงใหม่มีอัตราการเสียชีวิตรายวันโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุและการฆาตกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ใน 1 สัปดาห์ เฉพาะที่ อ.เชียงดาว เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ผู้ป่วยแอดมิทที่โรงพยาบาลเชียงดาว เนื่องจากนอนรักษาโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ สัมผัสทั้งวันทั้งคืน อัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในทุก 10 มคก./ลบ.ม. ที่เพิ่มขึ้น

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวต่อว่า 3.การเจ็บป่วยรุนแรงที่สูงขึ้น ทั้งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดอักเสบ หลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่กำเริบต้องไปโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งปัญหาคือ การกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศของไทยยังต่ำกว่าองค์การอนามัยโลก และเป็นการลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ายังไม่อันตราย ทำให้ประชาชนไม่ป้องกันตนเองและครอบครัว

เกณฑ์มาตรฐานอากาศไม่ควรมีคำว่าเซฟตี้เลเวล เพราะมากกว่า 0 ก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่องค์การอนามัยได้ทบทวนแล้วประกาศค่าปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนมากที่สุด คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 รายวัน ต้องไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี ต้องไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม. ซึ่งประเทศสมาชิกควรใช้ตามไกด์ไลน์นี้”

ส่วนประเทศไทยสูงกว่า 2 เท่า โดยค่ารายวันอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. และรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. และไม่เคยปรับค่าใหม่ ทั้งที่ประเทศที่มีมลภาวะสูงมากอย่างอินเดีย บังกลาเทศ จีน กำหนดเป้าหมายตามลำดับ โดยเบื้องต้นค่ารายปีจะต้องไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ระยะกลาง 25 มคก./ลบ.ม. และระยะท้าย 15 มคก./ลบ.ม. เพื่อลดความสูญเสีย” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ มีการศึกษาค่าความเข้มข้นรายปีของฝุ่น PM2.5 ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ พบว่า การลดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 รายปีให้เหลือ 35, 25, 15 และ 10 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ จะลดการสูญเสียการตายก่อนวัยอันควรได้ทั้งหมดจาก 1.2 ล้านคน เหลือเพียง 4 แสนคน ถ้าไทยลดค่าฝุ่น PM2.5 รายปีลงเหลือ 15 มคก./ลบ.ม. การมีชีวิตรอดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ถ้าลดเหลือ 10 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มการมีชีวิตรอดร้อยละ 4 ต่อปี โดยชาวพะเยาจะอายุยืนขึ้น 5.6 ปี ภาคเหนือเฉลี่ย 4-6 ปี อีสาน 2-4 ปี กรุงเทพมหานคร 2.4 ปี ภาคตะวันออก 1-3 ปี

“การเตือนค่าฝุ่นละอองจะต้องเตือนทั้งค่ารายวัน ราย 1-3 ชั่วโมง รวมถึงต้องบอกข้อมูลแบบเรียลไทม์ และมีเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลเดียวที่แสดงให้เห็นชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน เช่น จ.เชียงใหม่ มีการทำค่าดัชนีคุณภาพอากาศของเชียงใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนให้ติดตั้งเซ็นเซอร์และแจ้งค่าฝุ่นทั้งหมด 25 อำเภอ ส่วนเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะติดตั้งทุกตำบลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)”

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเชิญคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เข้าหารือในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ต้องรอดูว่าจะมีผลออกมาอย่างไร แต่ขณะนี้ อยากให้ชัดก่อนว่า สาเหตุฝุ่นจิ๋วมาจากอะไร มีผลกระทบอย่างไร และควรมีแหล่งข้อมูลเดียว

“คนไข้หลายคนเป็นมะเร็งปอด โดยไม่ได้สูบบุหรี่ ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแน่นอน ตรงนี้ก็ต้องมีการติดตามเพื่อให้ได้ผลระยะยาวด้วย ดังนั้น รัฐต้องมีเป้าให้ชัด วัดให้ได้ และไปให้ถึงและเสนอว่าควรนำโมเดลเชียงใหม่มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกิน 70 ฉบับ แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว