เกษตรกร เข้าพบคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยันไม่แบน 3 สารแต่จำกัดการใช้แทน

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรปลูกผัก ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย กว่า 100 ราย ยื่นหนังสือขอบคุณ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย หลังจากมีมติ ไม่แบนการใช้ 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้แทน

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ผู้แทนคณะเกษตรกรกว่า 100 ราย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการพิจารณาจากข้อมูล 3 สารเคมี ที่คณะอนุกรรมการเสนอเข้ามา ทั้งข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากฝ่ายผู้สนับสนุนและคัดค้าน เห็นว่า ยังมีเหตุผลไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้ แต่ให้จำกัดการใช้แทนนั้น เกษตรกร ขอยืนยันการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ตัดสินอย่างรอบคอบเป็นธรรม และเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกร จึงขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้แสดงความคิดเห็นว่า สารทุกชนิดที่คนนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ทางเกษตรกรรมหรือทางแพทย์เป็นสารพิษทั้งนั้นมากน้อยแล้วแต่ชนิดสาร แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้สารพิษจริงๆ ก็หาวิธีการควบคุมการใช้ให้ถูกต้อง ถ้ามีการกำกับดูแลอย่างถูกต้อง การใช้ก็เป็นประโยชน์ไม่เกิดโทษ

ด้านนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า เกษตรกร 100 ราย ได้มีโอกาสยื่นหนังสือให้แก่ นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการพิจารณาอย่างเป็นธรรม รับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย ในการอนุมัติให้เกษตรกรได้ “ใช้พาราควอต” ในภาคการเกษตรต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะรายงานผลให้ทราบภายใน 15 วัน

ขณะเดียวกัน เกษตรกรได้เข้าพบนางวิไลวรรณ พรหมคำ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้กำลังใจ และพิจารณาในเรื่องมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี ที่ให้ลดการนำเข้าสารเคมี ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า ปริมาณความต้องการซื้อสูงกว่าปริมาณการขาย ส่งผลเกษตรกรต้องซื้อในราคาสูงขึ้น เพิ่มขึ้นโดยรวมปีละ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังไม่สามารถหาสารชีวภัณฑ์หรือวิธีการอื่นใดมากำจัดวัชพืชในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้ รวมทั้ง เกษตรกรได้ตรวจสอบสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการกล่าวอ้างว่าทดแทนได้ พบว่า มิได้เป็นสารธรรมชาติแต่อย่างใด ทว่าเป็นสารที่มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดิม และมีข้อสงสัยด้านความปลอดภัย” นายสุกรรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเกิดความเสียหายจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจสอบวิเคราะห์ดินและน้ำจากหนองบัวลำภูแล้วว่า ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต จึงอยากให้กรมวิชาการเกษตร มีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกัน ไม่ควรเอื้อประโยชน์ต่อสารเคมีใดสารเคมีหนึ่งและขอให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริงตระหนักถึงความสำคัญต่อการปฏิบัติและใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นหลักเพื่อยกระดับเกษตรปลอดภัยไทยให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน