ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กพช.เคาะแผนพีดีพีปี 2580 รวมผลิตไฟฟ้า 7.7 หมื่นเมกะวัตต์ ยันตรึง ค่าไฟฟ้า ไว้ไม่ให้เกิน ปัจจุบัน 3.58 บาทต่อหน่วย
ค่าไฟฟ้า / นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า
กพช. มีมติเห็นชอบปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 หรือพีดีพี (PDP 2018) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ทบทวนสถานการณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าปลายแผนในช่วงปี 2580 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 46,090 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ จากปี 2560 ที่กำลังผลิตไฟฟ้า 46,090 เมกะวัตต์ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าปลดออกจากระบบในช่วงปีแผน 25,310 เมกะวัตต์ แต่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามา 56,431 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าหมุนเวียน 20,766 เมกะวัตต์
แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าตามนโยบายส่งเสริมของภาครัฐรวม 520 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ รวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทางเลือก หรือเออีดีพี (AEDP)
กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 18,176 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 2,070 เมกะวัตต์เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติไปก่อนหน้านี้และอยู่ระหว่างก่อสร้าง ยังไม่มีการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าน้ำสูบกลับ 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2,112 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 1,740 เมกะวัตต์ รับซื้อจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่/ทดแทน 8,300 เมกะวัตต์ และแผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 เมกะวัตต์
โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ณ ปี 2580 ที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ที่ 35% แบ่งเป็นพลังน้ำจากต่างประเทศ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% การอนุรักษ์พลังงาน 6% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงเหลือ 12% ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อตกลง COP21 ปี 2580 อยู่ที่ 103 ล้านตัน
“กระทรวงพลังงาน ยืนยันประมาณการค่าไฟฟ้าขายปลีก ในช่วงปี 2561-2580 จะไม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน โดยอยู่ระหว่าง 3.50-3.63 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ย 3.58 บาทต่อหน่วย” นายศิริ กล่าว
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กหรือเอสพีพี (SPP) ระบบโคเจนเนอเรชั่นที่อายุสัญญาจะสิ้นสุดในปี 2559-2568 ให้ได้รับการต่ออายุสัญญาครอบคลุมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก 25 ราย กำลังการผลิตรวม 2,974 เมกะวัตต์ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิมและได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหินรับซื้อที่ 2.54 บาทต่อหน่วย ก๊าซธรรมชาติรับซื้อ 2.82 บาทต่อหน่วย
ขณะเดียวกัน ได้จัดทำการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี โดยเร่งรัดให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาแนวทางดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบค่าไฟ รวมถึงเห็นชอบหลักการคิดอัตราค่าไฟฟ้า และหลักการของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 1 โครงการเขื่อนเซเสดฉบับใหม่ โดยหลักการคิดอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่เป็นปัจจุบันมีอายุสัญญา 1 ปี และสามารถต่อสัญญาต่อเนื่อง