พลิกที่ดิน 108 ไร่ “สถานีขอนแก่น” ผุด “โรงแรม-สวนสนุก”

ไม่ใช่แค่ที่ดินทำเลทองในกรุงเทพฯ ที่ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” จะนำมาเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนารูปแบบ PPP ทั้งย่านบางซื่อ มักกะสัน สถานีแม่น้ำ เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว

ล่าสุด เตรียมพลิกที่ดิน 108 ไร่ ย่าน “สถานีขอนแก่น” ปัจจุบันเป็นอาคารบ้านพักพนักงาน อาคารที่ทำการและสนามกอล์ฟ เปิดให้เอกชนที่สนใจลงทุนพัฒนาโครงการ รับรถไฟทางคู่ “ช่วงจิระ-ขอนแก่น” ที่กำลังเปิดใช้ในเดือน ก.พ.นี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการวันละ 2-3 หมื่นคน

โดยจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการและรูปแบบการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ซึ่งจัดการรับฟังความคิดเห็นทดสอบความสนใจของนักลงทุน (market sounding) ไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่ด้านรับเหมาก่อสร้าง อสังหาฯ ค้าปลีก พลังงาน อาทิ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.ซี.พี.แลนด์ บมจ.สัมมากร บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บมจ.อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ปตท. บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เป็นต้น

“วรวุฒิ มาลา” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จะนำข้อคิดเห็นของภาคเอกชนมาจัดทำรายละเอียดของโครงการให้ตอบโจทย์การพัฒนาให้มากที่สุด คาดว่าจะสรุปรูปแบบการพัฒนาอีก 3-4 เดือนนี้ จากนั้นได้แนวคิดจะต้องศึกษารายละเอียด และทำรายงาน PPP คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี

โดย “โซน B” เนื้อที่ 16.2 ไร่ ติดกับถนนรื่นรมย์ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณย่านสถานีรถไฟ (TOD) เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และการใช้ประโยชน์ประเภทอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก

“โซน C และโซน D” เนื้อที่รวม 16.5 ไร่ พัฒนาเป็นโรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า เพื่อบริการผู้เดินทาง ขณะที่ “โซน E” เนื้อที่ 58.6 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่สวนสนุกและพื้นที่สันทนาการ เช่น รถไฟเหาะตีลังกา เรือไวกิ้ง สวนน้ำ คอนเซ็ปต์คล้ายยูนิเวอร์แซล และ “โซน F” เนื้อที่ 8 ไร่ พัฒนาพื้นที่ประเภทกลุ่มอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟฯ

นายวรวุฒิ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาที่ดินโซน A ของสถานีกลางบางซื่อ เนื้อที่ 35 ไร่ว่า ก.พ.นี้จะสรุปร่างทีโออาร์ คาดว่าจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 และส่งมอบพื้นที่ได้ปลายปีนี้ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ระยะเวลา 30 ปี ก่อสร้าง 4 ปี

พัฒนาจัดหาประโยชน์ 30 ปี ภายใต้รูปแบบ BOT คือ สร้าง บริหาร และโอนกรรมสิทธิ์ให้ ร.ฟ.ท.เมื่อครบกำหนดสัญญา มีมูลค่าลงทุนรวม 15,400 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งธุรกิจอสังหาฯ ค้าปลีก เนื่องจากมีวัตถุประสงค์การพัฒนาโครงการชัดเจนว่าเป็นมิกซ์ยูสรับกับสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางของระบบราง