กรมเจรจาฯ เสริมศักยภาพเกษตรสมุนไพรบ้านดงบัง สู่ตลาดการค้าเสรี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่พบปะเกษตรกรภาคตะวันออก ในโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 2” ณ จังหวัดปราจีนบุรี จัดสัมมนาชี้ช่องทางรวยจาก FTA พร้อมให้ข้อมูลกับเกษตรกรใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA 13 ฉบับที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เพื่อส่งออก

อาชีพเกษตรกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาในทุกด้าน โอกาสการเติบโตของสินค้าเกษตรไทยถูกส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มองเห็นถึงช่องทางสำคัญ ที่จะทำให้สินค้าเกษตรสามารถขยายตลาดออกไปได้มากขึ้น โดยการเปิดเสรีทางการค้าของไทยที่จะช่วยเกษตรกรไทยให้สามารถขยายตลาดส่งออกได้

 

ในครั้งนี้ กรมเจรจาฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เพื่อศึกษาดูงานกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบังเป็นกลุ่มสมุนไพรใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 1,000 ไร่ ผลิตและแปรรูปสมุนไพรให้กับ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยมี คุณสมัย พูนสุข ประธานที่ปรึกษากลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง เป็นผู้ดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

กลุ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ในช่วงแรกปลูกสมุนไพรเพื่อเป็นรายได้เสริม และได้เริ่มขยายพื้นที่รวมเพาะกลุ่มปลูกจนกลายมาเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรชุมชนบ้านดงบัง และขยายเป็นกลุ่มสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จนปัจจุบันสมุนไพรบ้านดงบังเป็นที่รู้จักของตลาดโลก ซึ่งในตอนนี้สมุนไพรถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ตลาดโลกหันมาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันบ้านดงบังปลูกสมุนไพรที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากกว่า 100 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น ขมิ้นชัน, ฟ้าทะลายโจร, เพชรสังฆาต, หญ้าปักกิ่ง, หญ้าหนวดแมว, เสลดพังพอน, รางจืด, อัคคีทวารชุม, เห็ดเทศ, ทองพันชั่ง, ใบชะพลู, ใบฝรั่งขี้นก เป็นต้น เหล่านี้เป็นพืชสมุนไพรที่เป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณผลิตและส่งให้เฉพาะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจำนวนกว่าร้อยตันต่อปี คิดเป็นรายได้ 200 300 ล้านบาท โดยยังไม่รวมผลผลิตที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ

พืชสมุนไพรอีกชนิด ที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น คือ ดอกอัญชัน จำหน่ายในราคา 350 400 บาท ต่อกิโลกรัม (ดอกอัญชันแห้ง) ซึ่งดอกอัญชันสด 10 11 กิโลกรัม จะได้ดอกอัญชันแห้ง 1 กิโลกรัม ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอย่างมากเพราะใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่มาก พื้นที่ 100 ตารางวา สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 500 1,000 บาทต่อวัน แต่สิ่งสำคัญคือการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน

สอดคล้องกับโครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ มุ่งเน้นเสริมศักยภาพและร่วมเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วยสร้างมูลค่าและยกระดับสินค้าเกษตรในชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล

เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และการเข้าสู่ตลาดอาเซียน และที่สำคัญยิ่งคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับเกษตรกรโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีซึ่งจะทำให้เกษตรกรเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งมั่นคงในระยะยาว

พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเขตการค้าเสรีการใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA กฎระเบียบทางการค้า นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยเน้นสินค้าที่มีศักยภาพในพื้นที่แต่ละภูมิภาคเพื่อนำไปสู่ตลาดต่างประเทศ