คุยกับ CEO อนันดา ธุรกิจที่ดี ไม่ควรฝืนธรรมชาติ “วันนี้ไม่ใช่แล้ว ผมเปลี่ยนไปแล้ว”

ถึงวันนี้ “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” แบรนด์ยิ่งแกร่งขึ้น

หลังโฟกัสตลาดถูกจุด โดนใจลูกค้าคนรุ่นใหม่ สร้างความต่าง หนีห่างคู่แข่ง เน้นพัฒนาคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า รัศมีไม่เกิน 500 เมตร ตั้งราคาขายไม่เกินตารางเมตรละ 7-8 หมื่นบาท

ท่ามกลางตลาดแข่งเดือด และเกิดคำถามมากมาย “คอนโดฯ” จะล้นตลาดหรือไม่ ใครเป็นคนซื้อ จะขายได้รึเปล่า ?

“ชานนท์ เรืองกฤตยา” ซีอีโอค่ายอนันดา ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดคอนโดฯยังขายได้ เพราะแนวโน้มการอยู่อาศัยในโลกใบใหม่มาทางนี้ มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล

แผนปีนี้ “อนันดา” จึงตั้งเป้ายอดโอน 40,507 ล้านบาท เป็นคอนโดฯมากถึง 35,912 ล้านบาท ส่วนแนวราบ 4,595 ล้านบาท พร้อมเปิดตัว 22 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 48,022 ล้านบาท เป็นอาคารชุด 13 โครงการ มูลค่ารวม 39,616 ล้านบาท และแนวราบ 9 โครงการ มูลค่า 8,406 ล้านบาท

“เราเน้นทำเลรถไฟฟ้าเป็นหลัก โดยเฉพาะสายสีเขียวบีทีเอสทั้งในเมืองและส่วนต่อขยาย”

สิ่งที่ท้าทายในปีนี้ เรื่องแรกผมมองว่า “การเมืองยังไม่นิ่ง” จะมีเลือกตั้งหรือไม่ ผมคงเฉย ๆ แล้ว ขอแค่อย่าทะเลาะกันก็พอ

เรื่องที่สอง “กำลังซื้อ” เพราะราคาที่ดินแรงและแพงมาก ทำให้ต้นทุนสูง ผู้บริโภคไม่ได้รวยจีดีพี กลายเป็นว่า เรามี 2 สังคม คือสังคมที่รวยมาก กระจุกอยู่ในเมือง และสังคมทั่ว ๆ ไป กระจายอยู่ชานเมือง

เรื่องที่สาม “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังสูงอยู่ในตลาดระดับล่าง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการซื้อของใหญ่อย่างที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผมยังเฉย ๆ กลัวการขาดแคลนแรงงานมากกว่า แต่จะกลัวเรื่อง “กฎระเบียบ” ของภาครัฐมากกว่าที่ไม่ค่อยชัดเจน ทำให้เราไม่มั่นใจ ไม่กล้าลงทุน

“อย่างเรื่องที่ดิน บางทำเลซื้อขายตารางวาละ 3 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ต้องสร้างคอนโดฯขายตารางเมตรละ 5-6 แสนบาทขึ้นไป คนจะซื้อได้ต้องมีเงินเท่านั้น”

แต่ถ้าผมซื้อในราคาที่ต่ำลงมา ตารางวาละ 1.5-2.5 ล้านบาท ขายตารางเมตรละ 3-4 แสนบาท ผมว่ามีคนซื้ออยู่นะถ้าต้องการตลาดแมส ต้องขยายไปทำเลชานเมือง ขยับไปสมุทรปราการ นนทบุรี ขายตารางเมตรละ 7-8 หมื่นบาทยังขายได้ เพราะมีรถไฟฟ้าให้นั่งต้นทางถึงปลายทางเซ็กเมนต์ลูกค้าของอนันดาเหมือนเครื่องบิน มีที่นั่งพรีเมี่ยม อีโคโนมี บิสซิเนส เราเป็นเจ้าที่เอาทำเลรถไฟฟ้าไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นตลาดลักเซอรี่แบบคอมแพ็กต์ เป็นนิยามใหม่ ๆ ถ้าไปแข่งซื้อที่ดินวาละ 3 ล้านบาท ขายตารางเมตรละ 5 แสน ได้ห้องเล็ก 40 ตร.ม. ราคา 20 ล้านบาท หรือห้อง 150 ตร.ม. ราคา 75 ล้านบาท อย่างนี้ไม่ใช่ตลาดเรา อนันดาต้อง 3-5 ล้านบาท หรือตารางเมตรละ 1-1.5 แสนบาทเป็นหลัก เพราะคนจับต้องได้ หนุ่มสาววัยทำงานเป็นลูกค้าแฟนคลับเรา

เทรนด์มิกซ์ยูสที่หลายค่ายโหมลงทุน

“ชานนท์” มองว่า ยังไม่จำเป็นสำหรับอนันดา เพราะยังไม่เห็นใครประสบความสำเร็จจริง ๆ เพราะตลาดไม่หมู เรายังมีช่องทางธุรกิจของเราอยู่ ล่าสุด เริ่มเข้าสู่ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ที่รัชดาภิเษก 1,350 ล้านบาท เป็นลิมิเต็ด เซอร์วิส โฮเต็ล และมีรีเทล 2,000 ตร.ม. รองรับลูกค้าคอนโดฯ ไม่ใช่เพื่อการค้า

“ออฟฟิศบิลดิ้ง ตอนนี้เราศึกษาพระราม 4 โซนโครงการวัน แบงคอก อนาคตจะมีออฟฟิศบิลดิ้งถึง 2 ล้าน ตร.ม.ในอีก 5 ปี จึงต้องดูดีมานด์จะมีมากขนาดนั้นหรือไม่ กายภาพถนนพระราม 4 เมื่อโครงการต่าง ๆ เสร็จทั้งวันแบงคอก เซ็นทรัล และสามย่านมิดทาวน์ จะเป็นทำเลที่ทันสมัยที่สุด ยิ่งกว่ารัชดา สุขุมวิท เราศึกษามาหลายปีแล้ว ทั้งออฟฟิศบิลดิ้งและรีเทล แต่ยังไม่ถึงเวลา อยู่ที่ความถนัดของใครของมัน”

“ธุรกิจที่ดีไม่ควรฝืนธรรมชาติเกินไป ฝืนแล้วเหนื่อย ต้องใช้พลังงานมากกว่า 3 เท่า”

เวลาเป็นผู้นำ เรามักเข้าข้างตัวเอง ไม่เป็นกลาง แม้ลูกน้องจะวิเคราะห์ข้อมูลว่า ผลเป็นแบบนี้นะ แต่เราจะเอาแบบนั้น นั่นคืออดีต คือบทเรียนเช่น 10 ปีที่แล้ว ที่ทำโครงการวินด์มิลล์ ทำสปอร์ตคลับ 130 ล้านบาท ลูกน้องบอกให้ปรับลดการลงทุน แต่ผมไม่ยอม เถียงกันจะลงทุน 70 หรือ 130 ล้านบาท แต่ด้วยความหน้าใหญ่ ใจใหญ่ ผมให้ลงทุน 130 ล้านบาท ถึงทุกวันนี้ “ไม่เคยได้กำไรคืนสักสลึงหนึ่ง”

แต่ลูกค้าแฮปปี้ ในเชิงธุรกิจถือว่า “เละเทะ” แต่ในเชิงสังคม “ถือว่าดี คืนกำไรให้ลูกค้า”

นี่คือการฝืนธรรมชาติในอดีตของตัวผมเองที่กลัวเสียฟอร์ม กลัวเสียหน้า

แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ผมเปลี่ยนไปแล้ว เพราะคนและองค์กรมีค่ามากกว่า