ตัวอย่างธุรกิจแบบ “กงสี” ที่อยู่รอดและไปได้  ‘ทุกคนยังรักกัน’

 

มีเรื่องราวตัวอย่างความพังพินาศของธุรกิจแบบ กงสี มากมายให้เห็น

ช่วงเริ่มสร้างกิจการ ฝ่าปัญหาและอุปสรรคมาด้วยกัน พี่น้องรักกันสามัคคีกันดี

ต่อมา กิจการก้าวหน้า เริ่มร่ำรวย

สมาชิกเพิ่มขึ้น มีเขย สะใภ้ มีหลาน  เรื่องราวไม่จบแค่พี่น้อง หากแต่มีตัวละครใหม่ๆ ที่ไม่เคยลำบากมาด้วย

เริ่มไม่ยอมกัน จนสุดท้ายนำมาสู่ความขัดแย้ง

หรือผู้นำครอบครัว ไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย เริ่มผ่องถ่ายทรัพย์สิน เวลานั้นเอง ทุกคนก็เริ่มกอบโกย หายนะก็เกิด

นี่เป็นเรื่องราวปกติ ของระบบ กงสี ที่คุ้นชิน

หากแต่ เรื่องราวต่อไปนี้  ที่ยังใช้ระบบ กงสี ทว่ามีความแข็งแกร่ง  อยู่กันด้วยความรักความสามัคคี

คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี

นั่นคืออาณาจักร หญิงนักธุรกิจแห่งเมืองอุบลฯ ก้าวหน้าไก่สด โรงแรมสุนีย์แกรนด์ ห้างสรรพสินค้าสุนีย์ และอีกหลายกิจการ  คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี คุณแม่ของลูกๆ ทายาทนักธุรกิจทั้ง 4

คุณสุระ ตริยางกูรศรี

 

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์”  ได้มีโอกาส พูดคุยกับ คุณสุระ ตริยางกูรศรี บุตรชายคนที่ 3 ดูแลก้าวหน้าโภคภัณฑ์ ก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ก้าวหน้าโลจิสติกส์เซอร์วิส และก้าวหน้าเพาเวอร์ซัพพลาย

คุณสุระ เล่าให้ฟังว่า  ตัวเองเป็นบุตรคนที่ 3 มีพี่ชายอีก 2 คน และน้องสาวอีก 1 คน ปัจจุบัน ช่วยงานธุรกิจครอบครัวทั้งหมด โดยแบ่งงานกัน พี่ชายคนโต ดูแลก้าวหน้าไก่สด  พี่ชายคนที่ 2 ดูแลห้าง โรงแรม อสังหาริมทรัพย์  และน้องสาวดูแลโรงแรม และโรงงานไก่แปรรูป และที่สำคัญ คุณสุนีย์ ยังดูเรื่องการเงิน การบริหาร ให้คำปรึกษา ให้การตัดสินใจทั้งหมด เรียกว่ายังเป็นเซ็นเตอร์ของครอบครัว ทุกคน ยกเว้นน้องสาวคนสุดท้อง แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ทุกคนเป็นสมาชิกของอาณาจักรคุณสุนีย์

คุณสุระ  เล่าว่า “คุณแม่ผมมีระบบการบริหารที่ดี คือเราเรียนจบกันมา ก็กลับกันมาที่บ้าน คุณแม่โตมาจากกงสีที่ล้มละลาย  ท่านรู้ว่า จุดอ่อนของกงสีคืออะไร ฉะนั้นที่บ้าน พวกผมต้องกินเงินเดือน จะไม่สามารถหยิบเงินจากลิ้นชักได้เลย ใช้ระบบเงินเดือน โบนัสไป  เงินเดือนเดือนแรก หมื่นเดียว ผมจนมาก (หัวเราะ)”

“อย่างถ้าเป็นระบบกงสีที่อื่น  จะอยู่กันเหมือนรัฐสวัสดิการ คือหยิบเงินใช้ได้  มีหลานออกมาคนหนึ่ง มีเงินเดือน มีรถเบิกใช้ ถ้าสมมติว่ามีพี่น้อง 4 คน คนหนึ่งชอบรถแพงๆ ซื้อรถแพง แม่เกรงใจลูกอีก 3 คนซื้อแจกอีก 3 คัน ทั้งที่ ทั้ง 3 คนไม่ชอบรถ  แต่พอคนนี้ สร้างบ้าน ก็ต้องให้อีก 3 หลัง  ซึ่งมันไม่ได้สนองความต้องการที่แท้จริงของพวกเรา   เราก็เลือกว่าให้เป็นเงินซะ ใครจะเอาไปทำไรก็ทำ  บางคนชอบเที่ยว เอาไปเที่ยว บางคนชอบเห็นตัวเลขในบัญชี ก็เอาไปเก็บ  ระบบกงสีที่มีปัญหามากคือ ระบบสวัสดิการมากเกินไป  แต่ของเรามีขอบเขตสวัสดิการ  มีที่มาของเงิน พอเป็นระบบเงินเดือน มีโบนัสที่อ้างจากกำไร ปีไหนกำไรมาก โบนัสมาก คุณแม่ก็แบ่งให้ตามพอร์ตโฟลิโอ ผมว่ามันทันสมัย”

นอกจากนี้  คุณสุระ ยังเล่าให้ฟังถึงหัวใจการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวอีกว่า “คุณแม่ผม มีเทคนิคการเลี้ยงที่ดีมากมาย แม่บอกเสมอว่า  ให้ทุกคนยังอยู่บ้านติดกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน  แต่อย่าอยู่บ้านหลังเดียวกัน”

ด้วยเหตุผลที่ว่า อยู่ด้วยกันอาจเกิดกระทบกระทั่งกันง่าย  แต่ใกล้กันแต่พอสมควร มีระยะห่างให้ทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัว

ส่วนเรื่องที่สำคัญสำหรับครอบครัวที่มีกิจการแบบกงสี และกิจการเริ่มขยาย เติบโต ก็มักจะต้องเขียนธรรมนูญครอบครัว

“เราก็ล้มลุกคลุกคลานกันมา คุณแม่ทำงานหนัก ต่อสู้ ขยันมาก   เพิ่งมา 2 ปีหลังนี่ ที่เราเขียนธรรมนูญครอบครัว  เราเชิญที่ปรึกษามาร่างธรรมนูญครอบครัวให้  คือครอบครัวเรา ยังไม่ใหญ่ เราเร่งเขียนเพื่ออนาคต ในกลุ่มเรา มีทั้งหมด 15 คน เป็นลูก 4 ที่เหลือเป็นหลาน สะใภ้   ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง  การแบ่งผลประโยชน์ การกำหนดสิทธิหน้าที่  การเลือกผู้นำในรุ่นถัดไป เป็นต้น  โดยมีหลักว่า จะทำยังไงให้กิจการเราก้าวหน้าเติบโต แต่ยังอยู่ภายใต้ว่า เรายังรักกัน  ไม่ใช่เน้นการเงิน แต่เน้นการที่เราอยู่ร่วมกัน ” คุณสุระ กล่าวทิ้งท้าย