ผู้เขียน | เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน |
---|---|
เผยแพร่ |
ฯพณฯ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบายรัฐกับการสร้าง SMEs 4.0 เนื่องในงานสัมมนาประจำปี 2560 ที่จัดโดย นิตยสารเส้นทางเศรษฐี หัวข้อ “เปิดเส้นทาง SMEs 4.0 : เศรษฐียุคดิจิตอล ใครว่ายาก” มีบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจ ดังนี้
“SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ง่าย ที่จะอยู่รอดและเติบโต หากไม่มีการอาวุธทางความคิด หรืออัพเดตอยู่บนฐานข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เวลานี้
ข้อมูล จากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า SMEs มีอัตราการอยู่รอดเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปี นั่นหมายความว่า หากมี SMEs 100 ราย ภายใน 5 ปี จะอยู่รอด 50 ราย และตายไป อีก 50 ราย และข้อมูลจาก สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระบุว่า ปี 2559 มี SMEs ประมาณ 2.88 ล้านราย ในจำนวนนี้ มาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กับกรมธุรกิจการค้าเพียง 6 แสนราย อีก 2 ล้านกว่าราย ไม่อยู่ในระบบ ซึ่งใน 6 แสนรายนี้ เป็นผู้ประกอบการรายเดียวถึง 80 เปอร์เซ็นต์”
เพราะเหตุใด อัตราการอยู่รอดของ SMEs จึงมีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์
“SMEs ส่วนใหญ่ เอาทุนเป็นที่ตั้ง นั่นหมายความว่า เวลาจะทำอะไร ก็เริ่มที่เงินทุนก่อน ซึ่ง SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่กู้เงินในระบบยากที่สุด ส่วนใหญ่จะกู้ไม่ได้ เพราะถ้าเอาทุนเป็นตัวตั้ง เราจะอยู่รอดยากมาก จริงๆ การที่จะอยู่รอด ต้องถามว่า โอกาสธุรกิจของคุณอยู่ตรงไหน ถ้าอยู่ขาลง ยังไงก็ลำบาก ยกเว้นว่า คุณเก่งจริงๆ”
คำแนะนำ สำหรับ SMEs ยุคดิจิตอล
1.ความอยู่รอดของ SMEs ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ในยุคปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่ยังเจ๊ง ขนาดเล็ก ยิ่งลำบาก แต่บนความเปลี่ยนแปลงมันมีทั้งอุปสรรคและโอกาส อย่างสมัยก่อน จะขายของผ่านช่องทางเดิมๆ หน้าร้าน ฝากขาย หรือไปออกงาน ที่เรียกกันว่า ช่องทางแบบออฟไลน์ แต่สมัยนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า ออนไลน์ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และต้องใช้กลยุทธ์ที่ดี
ซึ่งเวลาเราทำธุรกิจ เราต้องมีตลาด วันนี้เป็นวันของอีคอมเมิร์ซ เฟซบุ๊ก ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนออฟไลน์ มาเป็นออนไลน์ เราตกยุคแล้ว เราต้องขึ้นมาอยู่บนออนไลน์ ทั้งการขาย ทั้งการรับรู้ การสื่อสาร นี่คือจุดเปลี่ยน
2.ยุคนี้ เป็นยุคดิจิตอล เข้ามามีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ตลอดเวลา สิ่งที่รัฐบาลมองเห็นคือ ถ้าจะให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็ง เอสเอ็มอีต้องเข้มแข็ง นั่นคือต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องกฎหมายใหม่ๆ รูปแบบการค้าใหม่ๆ และการรวมตัวใหม่ๆ ที่จะช่วยกัน แบ่งปันความรู้ การเชื่อมโยง สายสัมพันธ์ ที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้า
3.การนำข้อมูล การติดตามความเปลี่ยนแปลง มาใช้ประโยชน์สร้างธุรกิจ อย่างที่เราทราบกัน ต่อไปประชากรของประเทศประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จะเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งคนสูงวัยเหล่านี้ ไม่เหมือนคนสูงวัยในสมัยก่อน ยุคปัจจุบัน คนสูงวัยไม่ปล่อยตัวแก่ ดูแลตัวเอง และที่สำคัญมีกำลังซื้อ เราก็ต้องดูว่า มีธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้หรือไม่
4.เรื่องทุน รัฐบาลยุคนี้ สนับสนุน SMEs ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ย 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าต่ำมาก ซึ่งรัฐต้องการให้เป็นเงินเพื่อเริ่มต้นของธุรกิจ
5.ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ คิดนวัตกรรมมากขึ้น ใช้ทุนทางปัญญามากขึ้น ให้เริ่มต้นจากปัญญาก่อน แล้วค่อยต่อยอดมาที่ทุน ถ้าคุณมีนวัตกรรมดีๆ มีคนที่พร้อมจะร่วมทุนกับคุณมากมาย
6.ถ้าคุณเป็น SMEs แล้ว ติดขัดปัญหา หรือที่เรียกว่า มี pain point ก็น่าจะที่จะไปร่วมมือกับสตาร์ตอัพ เรียกว่า จับคู่กัน เช่น คุณมีร้านอาหาร แต่ติดปัญหาเรื่องการสต๊อกสินค้า การส่งอาหาร การจองคิว สตาร์ตอัพจะเขียนโปรแกรมให้คุณ ง่ายมาก หรือคุณเป็นร้านตัดผม คุณตัดดีมากอาจจะสร้างระบบ การเตือนลูกค้าเมื่อถึงเวลาตัดผมในครั้งต่อไป ซึ่งนั่นคือไปจับคู่ทำงานสร้างนวัตกรรมกับสตาร์ตอัพ เช่น ค่าตัดผมครั้งละ 120 แบ่งให้สตาร์ตอัพ 10 บาท เป็นโพรฟิทแชร์ริ่งกัน อะไรอย่างนี้เป็นต้น
- SMEs ต้องเลิกทำสินค้าให้เหมือนกันทั้งประเทศ อย่างสินค้าชุมชน ทำแชมพูเหมือนๆ กันหมด แล้วจะขายยังไง มันต้องมีจุดแข็ง เช่น ถ้ามีวัตถุดิบดีๆ รวมกลุ่มกันตั้งโรงงานสารสกัด แล้วไปขายให้เจ้าใหญ่ ดีมั้ย ซึ่งคนกลุ่มนั้น ก็ต้องการวัตถุดิบดีๆ มาทำกันเป็นแวลูเชน ได้หรือไม่