ผู้เขียน | วัชรี ภูรักษา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ธรรมศาสตร์โมเดล” เป็นโครงการธุรกิจเพื่อชุมชน ส่วนหนึ่งของหลักสูตรบริหารควบปริญญาตรี-โท ทางบัญชีและบริหารธุรกิจของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ทุกคนต้องเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ พร้อมใช้ความรู้ที่เรียนมาช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชนต่างๆ พร้อมไปกับการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการแบ่งปันและเปลี่ยนความรู้เป็นการปฏิบัติจริง เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัย เมื่อมีความรู้ต้องแบ่งปันและทำประโยชน์ให้สังคมและใช้เครื่องมือเพื่อนำความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ เดินหน้าได้ตามแนวทางรัฐสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์โมเดล” เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดและความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษา ที่จะทำหน้าที่ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อลงไปวิเคราะห์ปัญหา และหาทางออก ช่วยกันแก้ไขให้ชุมชนนั้นสามารถพัฒนาสินค้าหรือแบรนด์ จนสามารถต่อยอดได้อย่างยั่งยืนภายในระยะเวลา 4 เดือน (1 ภาคการเรียนการสอน) ร่วมกับคนในชุมชน ที่จะทำงานไปด้วยกัน, ภาคเอกชน ที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องเงินทุน และความร่วมมือแบบพันธมิตรธุรกิจ และภาคราชการ ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาคที่เข้ามาช่วยดูแลและผลักดันคนในชุมชน สร้างความร่วมมือภายในชุมชน
ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินมา 10 ปีแล้ว นักศึกษาลงพื้นที่ไปทำงานกับชุมชนหลากหลายจังหวัดและทำงานกันอย่างต่อเนื่องมาตลอดในหลายพื้นที่ อาทิ บุรีรัมย์ สมุทรสาคร ระยอง ราชบุรี กาญจนบุรี โดยมีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมด้วย เช่น ธนาคารออมสิน สมาคมเพื่อนชุมชน จังหวัดระยอง
โดยแนวทางการทำงาน คือ ทางคณะจะจัดทีมนักศึกษาลงพื้นที่อาศัยอยู่กับชุมชน เพื่อศึกษาปัญหา แล้วลงมือทำจริง แก้ปัญหาร่วมกับชุมชนจริง โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาทำงานร่วมกับชุมชน โดยเมื่อวิเคราะห์ปัญหาได้แล้ว นักศึกษาจะต้องนำความรู้ การบริหารธุรกิจสมัยใหม่ลงไปทำงานร่วมกับชุมชนนั้น เพื่อที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งและเติบโตได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนด้วย ไม่ว่านักศึกษาที่ไปทำงานจะยังอยู่ต่อหรือไม่ก็ตาม ชุมชนก็จะต้องดำเนินงานต่อไปเองได้”
สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ของชุมชนที่พบมากที่สุด และเหมือนกันทุกพื้นที่คือ “สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ขาดการพัฒนาให้ชวนซื้อ ทั้งในเรื่องบรรจุภัณฑ์ ตรายี่ห้อหรือแบรนด์ ขาดข้อมูลรายละเอียดสินค้า ทำให้ผู้ซื้อไม่มั่นใจ และที่สำคัญคือ การจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ และขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยปัญหาเหล่านี้ หากได้รับการแก้ไขและพัฒนาโดยคนภายในชุมชนร่วมมือกันทำ และทำให้เกิดความยั่งยืนของสินค้าภายในชุมชนนั้น ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ธรรมศาสตร์โมเดล เป็นการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน โดยชุมชนจะต้องให้ความร่วมมือกับนักศึกษาด้วยความเต็มใจที่จะพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งหากทำไปแล้วจะต้องเกิดผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญคือ สามารถวัดผลได้ภายใน 4 เดือน ว่าเกิดการพัฒนาด้านใดบ้าง อาทิ โปรดักต์ แบรนด์ คุณภาพสินค้า รายได้ที่เพิ่มขึ้น ระบการบริหารจัดการต่างๆ และที่สำคัญคือ เมื่อนักศึกษาถอนตัวออกมา ชุมชนก็ยังทำได้อย่างต่อเนื่องและเดินไปเองได้”
ยกตัวอย่าง กลุ่มชุมชนที่นักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ลงพื้นที่ทำงานในปีนี้ เช่น กลุ่มหัตถกรรมชุมชน ต.พงตึก อ.เมืองท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ผลิตภัณฑ์คือ กระเป๋าเชือกฟอก ชุมชนนี้เป็นกลุ่มที่มีสมาชิก 15 คน การทำกระเป๋าเชือกฟอกเป็นเหมือนอาชีพเสริมของคนในชุมชน ทำกันเอง ขายกันเอง ไม่ได้เป็นที่รู้จัก ปัญหาคือ จะต้องทำให้คนในชุมชนเป็นกลุ่มมากขึ้น เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองในการขายและลดต้นทุน ต้องทำงานให้เป็นระบบให้ได้
คุณพันธมน ไชยมูล ตัวแทนของกลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่ไปทำงานกับกลุ่มหัตถกรรมชุมชน ต.พงตึก อ.เมืองท่ามะกา จ.กาญจนบุรี บอกว่า “เราจะต้องพยายามทำให้ชุมชนทำงานเป็นกลุ่มให้ได้ และจะต้องพยายามสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าดังกล่าว โดยใส่ไอเดียของคนรุ่นใหม่ลงไปในการดีไซน์กระเป๋า เราเน้นไปที่สไตล์โบฮีเมียน และเพิ่มช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์ ให้เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ โดยการสร้างแบรนด์ทำโดยการสร้างเรื่องราว เชื่อมโยงกับเรื่องราวของคนในชุมชน อย่างที่ชุมชนนี้มีตำนาน ชื่อชุมชนหมายถึง ตะเกียงโบราณ จึงสร้างแบรนด์สตอรี่เรื่องราวของแบรนด์ขึ้นมา เป็นชื่อใหม่ว่า Wala”
หรืออย่างกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำฟักข้าวเกษตรพัฒนา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งผลิตภัณฑ์คือ น้ำฟักข้าว นางสาวกัลยกร แฉล้มเขตต์ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่ เล่าว่า กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำฟักข้าวเกษตรพัฒนานี้ เป็นกลุ่มที่มีคนสูงวัยเป็นสมาชิก การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากเด็กนักศึกษาอย่างตนและเพื่อนจึงเป็นเรื่องที่ยาก การทำให้เขายอมรับฟัง และทำตาม จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ดังนั้น นอกจากจะแสดงความเห็นแล้ว ตนและเพื่อนจะต้องทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ด้วย อย่างเช่น เรื่องของการปรับสูตรน้ำฟักข้าว กลุ่มลูกค้าที่ต้องขาย ขนาดแพ็กเกจจิ้ง ที่ต้องตอบสนองลูกค้าสมัยใหม่ให้ได้ด้วย
ดังนั้น จึงจะต้องลงมือทำเองให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลง และยอมรับฟังความคิดเห็นของเรา อย่างการปรับสูตรให้ลดน้ำตาลลง เหมาะกับเทรนด์สุขภาพ การปรับขนาดของสบู่ฟักข้าวให้มีขนาดที่คนทั่วไปนิยมใช้งาน ซึ่งต้องอาศัยการทำสำรวจ และการหาข้อมูลกับสถาบันสุขภาพด้วย การเปลี่ยนแปลงคือ จากรายได้ที่ขายน้ำฟักข้าวหลักพันบาท พอปรับสูตรเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ สามารถทำรายได้หลัก 20,000 กว่าบาท ต่อเดือน”
นอกจากโมเดลดังกล่าวแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ แนะนำเพิ่มเติม หากชุนชนใดที่อยากจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความยั่งยืนว่า “อย่างแรกเลย ที่ทุกชุมชนต้องมีคือ ชุมชนต้องการอะไร มีความถนัดอะไร มีอะไรอยู่ในชุมชน คนภายในต้องตอบคำถามให้ได้ สอง จะเดินหน้าต้องรู้จักว่าสิ่งที่จะทำคืออะไร มีหลักวิธีคิดร่วมกันอย่างไร สาม เอาความต้องการเป็นที่ตั้งร่วมกัน และสี่ คิดได้ ต้องแก้ไขปัญหาได้ และสามารถทำให้ได้จริง สำคัญคือคนในชุมชนต้องร่วมมือกัน”