ทำธุรกิจยุคใหม่ต้องเอาใจ “คนไวแสง”เจอมุมไหน-ทำอะไรต้องถ่ายรูป บริการเสริมพิเศษได้ใจ

View point of Chiang mai city in the morning from Doi suthep, Chiang mai, ThailandView point of Chiang mai city in the morning from Doi suthep, Chiang mai, Thailand

เมื่อก่อนเวลาพูดถึงการท่องเที่ยว มีผู้ให้นิยามสั้นๆ ว่า ขอให้มีองค์ประกอบ “ชม ชิม ช็อป” ถือว่าครบสูตร แต่สมัยนี้ ต้อง “ชม ชิม ช็อป แชะ แชร์” จึงจะครบสูตร

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ใครๆ ก็เป็นช่างภาพได้ สมัยที่โทรศัพท์กับกล้องยังไม่รวมกัน คนที่จะมีกล้องถ่ายรูป ต้องเป็นเรื่องของใจรัก หรือไม่ก็ต้องมีเงินเหลือใช้ ซื้อมาแล้วยังยุ่งยาก ต้องมาเรียนรู้อีกว่า ใช้งานยังไง แม้มีกล้องรุ่น “ปัญญาอ่อน” ออกมาช่วยแก้ปัญหานี้ไปได้บ้าง แต่ยังต้องเรียนรู้ในระดับหนึ่งอยู่ดี

คนที่ทำธุรกิจอย่างชาญฉลาด ไม่ปล่อยโอกาสให้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ ผ่านหน้าไปเฉยๆ พวกเขาหยิบฉวยเอามาเป็น “ส่วนเสริม” ให้ธุรกิจมีเสน่ห์ได้อย่างลงตัว

เริ่มจากยุคแรก ที่เน้นการจัดบรรยากาศร้านและสภาพแวดล้อมให้พร้อม “ถูกถ่ายรูป” มองมุมไหนก็ดูดีมีความสวยงาม จากที่หวงห้าม ก็กลายเป็นปล่อยให้ถ่ายรูปได้ตามใจชอบ

ไปที่ไหน ไม่ให้ถ่ายรูป ดูจะขัดใจลูกค้าอย่างรุนแรง

จากนั้นเริ่มพัฒนาการไปสู่ การจัดมุมให้ถ่ายรูป คือ บางทีจัดทั้งพื้นที่คงบาดเจ็บจากค่าใช้จ่าย แต่การเลือกมุมเด็ดมุมโดนแค่ไม่กี่มุม หรือแค่มุมเดียวก็ได้ ทำให้กลายเป็น “มุมห้ามพลาด” มาที่นี่ ต้องมีรูปมุมนี้กลับไปอวดเพื่อน

ซึ่งแนวคิดมุมถ่ายรูปนี้ ปัจจุบันใครไม่มี เหมือนขาดบางอย่างในธุรกิจไปเลย พอๆ กับขาดป้ายชื่อหน้าร้านอะไรอย่างนั้นเชียว

ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ที่เมืองเพชรบุรี เข้าใจลูกค้าที่ชอบทำตัว “ไวแสง” เจอมุมไหน ต้องถ่ายรูปไว้ก่อน เปลี่ยนวิธีคิดเลยครับ

“ถ่ายให้”

แต่เป็นการถ่ายให้แบบที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เชิงการค้าด้วย เพราะการ “ถ่ายให้” ในที่นี้ เป็นการขอถ่ายให้ โดยทางร้านเป็นผู้ขอร้องลูกค้าให้มีการรวมหมู่กันอยู่หน้าป้ายชื่อร้าน ที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นจุดถ่ายรูป ประมาณว่าขอถ่ายไว้เป็นที่ระลึก

แล้วรูปเหล่านั้น ถูกนำมาใส่อัลบั้มโชว์ในร้าน ติดผนังร้าน ทำเป็นสไลด์โชว์ผ่านจอทีวีในร้าน

ใครมากินก๋วยเตี๋ยว ระหว่างรอ นั่งดูจอ เหลือบดูผนัง เปิดอัลบั้มบนโต๊ะ เจอรูปคนดังมากินมากมาย รู้สึกตัวเองไม่ตกเทรนด์ บางทีก็เจอ…อ้าว นี่มันเพื่อนฉันนี่หว่า “ไฉนแอบดอดมากินก่อนเรา” มีเรื่องได้ยกหูไปเมาธ์มอยกันมันปากอีก

บางแห่ง ใช้วิธีมีมาสคอต เดินไปเดินมาน่ารัก ซึ่งสูตรการสร้างมาสคอตส่วนใหญ่ ต้องดีไซน์ให้ลงพุง ใครเจอก็อยากเอาหน้าไปซบพุงกลมๆ ดูอบอุ่นดี อยากกอดแน่นๆ อยากถ่ายรูปคู่ ผมเองก็ไม่รู้ว่าราคาการสร้างมาสคอต 1 ตัว กับสร้างมุมถ่ายรูป อันไหนแพงกว่ากัน

แต่ทั้ง 2 อย่าง ให้ความรู้สึกต่างกันแน่นอน

มุมถ่ายรูป เป็นเหมือนป้ายชื่อ ที่ลูกค้าต้องการบอกว่า ฉันมาถึงที่นี่แล้วนะ จึงถ่ายกับมุมนี้

แต่มาสคอต เป็นสัญลักษณ์แสดงคาแร็กเตอร์บางอย่างของธุรกิจ ที่สร้างการจดจำได้ดี สามารถเคลื่อนย้ายไปมา ถ่ายกับมุมโน้นมุมนี้ได้ สามารถพาลูกค้าไปยืนอยู่หน้าจุดที่เราต้องการโปรโมตได้

ธุรกิจร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขามีมุกเด็ดเรื่องการเอาใจ “ลูกค้าไวแสง” ทั้งหลาย

สอนพนักงานเสิร์ฟไว้เลย ถ้าลูกค้าทำทีทำท่าขยับตัวรวมหัวกันเป็นหมู่คณะ หยิบโทรศัพท์ ยกกล้องขึ้นมา ต้องรีบอาสาเข้าไปนำเสนอว่า “ถ่ายให้เอาไหม”

“เอาสิครับ”

คำตอบร้อยทั้งร้อย ไม่เห็นโต๊ะไหนปฏิเสธ ลูกค้าก็ไม่ต้องเสียสละใครบางคนในกลุ่ม ออกไปเป็นช่างภาพ แล้วเขาคนนั้นก็ไม่ปรากฏเงาในภาพเลย หรือบางทีต้องสลับสับเปลี่ยนกันให้วุ่นวาย จนในที่สุด ต้องตะโกนโหวกเหวกเรียกเด็กพนักงานเสิร์ฟมาถ่ายให้อยู่ดี

ในเมื่อรู้ว่าต้องโดนเรียกอยู่แล้ว ก็ชิงเสนอตัวเสียก่อน ได้ใจกว่ากันแยะ

แต่ร้านนี้มีทีเด็ดมากกว่าที่คิดครับ เพียงแค่สอนให้เด็กอาสา ผมก็ว่าได้ใจแล้ว แต่นึกออกไหมครับว่า ตามร้านอาหารบรรยากาศดี ยามค่ำคืน สวยด้วยแสงวับๆ แวมๆ กล้องจากโทรศัพท์ถ่ายมาก็เบลอ แต่ถ้าใช้แฟลชจากโทรศัพท์ ก็มักหน้าขาวเวอร์ เพราะสว่างเกินเหตุ

ร้านนี้มี “ชุดไฟส่องสว่าง” มาให้ด้วยครับ

มาเป็นแผงไฟ LED แผงเล็กๆ แต่สว่างอลังการ มีเสาตั้งปรับทิศทางแสงได้ดังใจปรารถนา ไม่ใช่ดวงเดียวนะครับ หากมุมไหนมืด มีมากกว่า 1 อัน มาช่วยหยอดแสงให้สวยงามขึ้น

ผมสังเกตว่ามีมุมหนึ่ง ลูกค้าที่กินเสร็จเดินออกจากร้าน ต้องสะดุดกับมุมนี้ หลายคู่อยากถ่ายมุมนั้น เพราะด้านหลังเห็นบรรยากาศร้านทั้งหมดเป็นฉากหลัง…มุมนั้นสวย

ความทุลักทุเลของการเซลฟี่ คือการที่คน 2 คน สูงไม่เท่ากัน และความห่างของกล้องทำได้แค่ช่วงแขน (หากไม่มีไม้เซลฟี่) เก็บฉากหลังได้ไม่หมดตามต้องการ

จะมีพนักงานพุ่งตัวมาอาสาทันทีครับ พร้อมอุปกรณ์ไฟส่องเป็นขาตั้ง 2-3 ชุด มาขยับส่อง หยอดแสงลบเงากันจนดูดีทั้งคู่

แต่ถ้าอยากขยับไปมุมโน้นมุมนี้ หลายท่าหลายทาง พนักงานก็มีไฟรุ่นมือถือ ตามไปส่องให้แบบหน้าไม่มีมืด

ผมสังเกตว่า พวกที่มากัน 2 คน และพยายามเซลฟี่นั้น มักเล็งมุมโปรดเอาไว้หลายมุม พอมีคนอาสาถ่ายให้ก็ เพลินสิครับ ขอมุมโน้นอีกนิด มุมนี้อีกหน่อย พนักงานก็แสดงท่าทีส่งเสริม เติมไอเดีย เสนอมุม คิดท่า กันอย่างสนุกสนาน

บางกลุ่มเป็นครอบครัว สมาชิกเยอะ ไม่ต้องกังวลครับ เขามีไฟดวงใหญ่มากพอที่จะกวาดเก็บได้ครึ่งตระกูลอย่างไม่มีใครตกหล่นในความมืด

พวกมาเป็นครอบครัวดีครับ ไม่เยอะมุม แต่กว่าจะเข้าที่เข้าทางลงตัว เดินสลับสับตำแหน่งกันจนพอใจ ใช้เวลานิดหนึ่ง ต้องใจเย็น

ที่เล่ามานี้ เป็นตัวอย่างใกล้ตัว ที่เราทุกคนรับรู้ เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค เราเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นด้วย แต่การรับรู้กับการ “รู้แล้วใช้ประโยชน์” เป็นคนละเรื่องกัน

กระแสการเป็น “คนไวแสง” เจอมุมไหนต้องถ่ายรูป หรือทำอะไรต้องถ่ายรูป คงยังอยู่คู่กับมนุษย์ไปอีกนาน ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีกล้องอยู่ในมือเกือบตลอดเวลา

ดังนั้น โจทย์ของคนทำธุรกิจ คือ “ทำอย่างไร จึงจะตอบสนองได้โดนใจ”

แบบดั้งเดิม ก็โดยการสร้างมุมเด่น มุมโดน เอาไว้ให้ถ่ายรูป

แบบสนอง need จัดเต็ม ก็ควรอำนวยความสะดวกให้ถ่ายได้ดังประสงค์ไปเลย เหมือนร้านอาหารที่ยกตัวอย่าง

หมดยุคแล้วครับ ที่จะคิดว่า ห้ามถ่ายภาพในร้าน เพราะเดี๋ยวคนอื่นลอกเลียนแบบ แต่การปล่อยให้เขาถ่ายไป เท่ากับเป็นการช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินทำเอง

ฝ่ายหนึ่งได้ตอบสนองความไวแสงของตัวเอง อีกฝ่ายหนึ่งได้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

แบบนี้ win-win ที่สุดแล้วครับ