คลินิกแก้หนี้ ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เพิ่มออกซิเจนทางการเงิน

มาแล้ว “คลินิกแก้หนี้” ที่เปิดประตูอ้าแขนรับเฉพาะ “ลูกหนี้รายย่อย” ที่ตกอยู่ในกลุ่มเป็นหนี้เสียของเจ้าหนี้บรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยและเทศทั้งหลาย 16 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะเปิดดำเนินการวันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป

คลินิกแก้หนี้
ถือเป็นโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลหรือกดเงินสด และบัตรเครดิต โดยนำร่องกับกลุ่มลูกหนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ก่อน ส่วนน็อนแบงก์ จะเป็นสเต็ปต่อไป

โครงการแก้หนี้รายย่อยนี้ มีแนวคิดริเริ่มและแรงผลักดันหลักจาก “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปักธงตั้งแต่นั่ง “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” เมื่อปี 2558 ว่า ต้องการแก้ปัญหาคนไทยก่อหนี้กันเยอะขึ้น เพราะปี 2558 เป็นช่วงที่หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งกว่า 82-83% ของจีดีพี หรือทะลุ 11 ล้านล้านบาทและ 2-3 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนก็ยังรุนแรงขึ้น ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศไทย เพราะปัจจุบันภาคครัวเรือนมีความเปราะบางทางการเงินมากมาผสมกับภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง จะยิ่งกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวม

“คนที่เป็นหนี้โดยเฉพาะหนี้เสีย มักจะมีความกังวล เครียด ไม่มีสมาธิในการประกอบกิจการหน้าที่ต่าง ๆ เป็นปัจจัยฉุดรั้งทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ และที่สำคัญไม่สามารถยกระดับศักยภาพของตัวเองได้” คำกล่าวของผู้ว่าการแบงก์ชาติในวันเปิดตัว “คลินิกแก้หนี้”
เมื่อ17 พ.ค. 2560

“ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนดูเหมือนจะลดลง โดยสิ้นปี 2559 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 79.9%ของจีดีพี ดีขึ้นจากปี 2558 แต่ก็ยังอยู่ระดับสูง และหลายประเด็นที่น่ากังวล จากการศึกษา ของ สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นมาก เป็นหนี้นานขึ้น และมีมูลหนี้มาก”

เจาะลึกไป พบว่า คนที่มีอายุน้อย (ไม่เกิน 30 ปี) ประมาณ 50% คนอายุราว 30 ปี ก็จะมีการก่อหนี้กันแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และน่าตกใจที่ข้อมูลระบุว่า ลูกหนี้ที่อยู่ช่วงอายุ 29 ปี เป็นลูกหนี้เสีย มีสัดส่วนถึง 20% ของกลุ่มลูกหนี้วัยนี้ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา มีอัตราผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

ข้อมูลสะท้อนขนาดนี้ จะไม่ห่วงปัญหาสังคมคนไทยมีหนี้สูงในอนาคตได้อย่างไร เพราะเครดิตบูโร บอกว่า สิ้นปี 2559 คนไทยมีหนี้ต่อหัวอยู่ 150,000 บาท เพิ่มขึ้น เท่าตัวในระยะ 7 ปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 70,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่มีอัตราเร็วขึ้นด้วย แต่ภาวะเงินออมก็น้อยลง หรือเรียกว่า “แก่ก่อนรวย” สะท้อนว่าประเทศไทยยังติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปอีกยาว

สำหรับลูกหนี้ที่จะเข้ามารักษาที่คลินิกแก้หนี้ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ เป็นบุคคลธรรมดา มีเงินเดือนประจำ อายุไม่เกิน 65 ปี เป็นผู้ที่มีหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ค้างจ่ายหนี้นานกว่า 3 เดือน (เป็นลูกหนี้เสียแล้ว) แต่ยังไม่ถูกฟ้องร้องคดี จะต้องมีเจ้าหนี้มากกว่า 2 รายขึ้นไป และมีหนี้เงินต้นค้างชำระรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท

ข้อดีของลูกหนี้ที่ได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านคลินิกแห่งนี้ คือ จะเสียดอกเบี้ยเพียง 4-7% ต่อปี และผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี โดยลูกหนี้รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท (ต่อเดือน) คิดดอกเบี้ย 4%, รายได้ 3-5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 5%, รายได้ 5 หมื่นบาท-1 แสนบาท ดอกเบี้ย 6% และรายได้มากกว่า 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลหรือบัตรเครดิตอย่างมาก ส่วนภาระดอกเบี้ยคงค้าง ค่าปรับเก่า ๆ ก็จะได้รับการยกเว้นด้วย

เห็นชัด ๆ ว่า เข้าคลินิกนี้จะได้รับการช่วยเหลือลดภาระหนี้อย่างไร แต่ขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขลูกหนี้ที่เข้าโครงการนี้ มีข้อห้ามก่อหนี้ใหม่เป็นเวลา 5 ปี เว้นแต่สามารถจ่ายหนี้ได้หมดก่อน 5 ปี จะมีการพิจารณาทบทวนให้ และที่สำคัญ ลูกหนี้จะได้หลุดจาก “ชื่อที่ติดแบล็กลิสต์” ของเครดิตบูโรด้วย และระหว่างแก้หนี้ จะมีการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องวางแผนทางการเงินด้วย เพื่ออนาคตจะได้ก่อหนี้ (ใหม่) อย่างถูกทิศถูกทาง ช่วยให้วางแผนทางการเงินเพื่อชีวิตที่มั่นคงขึ้นได้

ดังนั้น ถ้าไม่อยากเสีย “เครดิตการเงิน” ในอนาคตเพื่อรักษาสถานะทางการเงินในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงชีวิต ก็เดินเข้ามาปรึกษา “บสส.” ได้ ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และอีก 4 จังหวัดตามภูมิภาค คือ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก และขอนแก่น พร้อมกับได้จัดโทรศัพท์ 20 คู่สาย หมายเลข 0-2610-2266 ไว้ให้คำแนะนำ และลูกหนี้ที่สนใจสามารถกรอกใบสมัครผ่าน www.debtclinicbysam.com หรือ www.คลินิกแก้หนี้.com ได้เองด้วย

“คลินิกแก้หนี้” แห่งหนี้ อยากคืนลูกหนี้กลับสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม ถามใจคุณดูว่า พร้อมจะหา “ออกซิเจน” ทางการเงิน เพื่อชีวิตในวันข้างหน้าหรือไม่