มองเขา คิดถึงเรา กับวิธีสนับสนุน และจัดการสินค้าชุมชนแบบญี่ปุ่น

ทุกครั้งที่มีโอกาสไปประเทศญี่ปุ่น นอกเหนือจากการทำภารกิจทางด้านการงานแล้ว ในทุกคืนของทุกวัน ผมมักจะหาโอกาสไปเดินเล่นในที่ต่างๆ

 หรือบางครั้งก็นั่งรถไฟฟ้าเข้าไปในเขตเมือง
แถวชิบูย่า
ฮาราจูกุ ชินจูกุบ้าง

เพื่อไปสำรวจตลาด และเพื่อซื้อของที่แต่ละคนฝากมา เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี สินค้ายอดฮิตที่คนไทยนิยมฝากซื้อของมากเป็นอันดับแรกขณะนี้คือ รองเท้าโอนิซึกะ บาย นิปปอน เมด

รองลงมาคือ นาฬิกาแบรนด์ญี่ปุ่น
ครีม และเครื่องสำอางแบรนด์ญี่ปุ่น
รวมไปถึงยาชนิดต่างๆ ที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งผ่านมาเทศกาลการซื้อของฝากมักจะวนเวียนอยู่แต่สินค้าเหล่านี้ มีบ้างบางครั้งที่พรรคพวกเพื่อนฝูง อาจฝากซื้อปากกาลบได้บ้าง หรือไม่ก็ฝากซื้อเสื้อผ้าแบรนด์มูจิ หรือยูนิโคล่

แต่สำหรับครั้งนี้มาแปลกหน่อย เพราะน้องๆ ในออฟฟิศกลับฝากซื้อกระเป๋าอเนลโล (ANELLO) และกระเป๋าพอเตอร์ (PORTER) ซึ่งผมไม่รู้จักเลย

ทั้งยังไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วย แต่เมื่อฟังน้องๆ ที่ออฟฟิศ และน้องๆ สื่อมวลชนที่ร่วมคณะไปด้วยกัน ต่างเดินหาซื้อกระเป๋า 2 ยี่ห้อนี้ จึงทำให้ผมพลอยอุ่นใจ เพราะเราแค่เดินตามเขาไป ก็น่าจะซื้อฝากโดยไม่ยาก แต่กระนั้น ผมก็อดคิดในแบบของผมไม่ได้ว่าทำไมกระเป๋า 2 ยี่ห้อนี้ถึงมีคนสนใจกันมาก จนพบคำตอบว่ากระเป๋าอเนลโลมีจุดเด่นที่เป็นกระเป๋าเป้สะพายหลัง

รูปลักษณ์สวยงาม
สีสันสดใส
ทั้งยังมีแบบให้เลือกหลากหลาย และหลายเฉดสีด้วยกัน
ที่สำคัญราคาไม่แพงมาก

ถัวเฉลี่ยตกใบละประมาณ 4,500 เยน หรือประมาณ 1,530 บาท ขณะที่บ้านเราจะขายอยู่ประมาณ 2,000 กว่าบาทขึ้นไป

ผลเช่นนี้เอง จึงทำให้ใครก็ตามที่ไปญี่ปุ่น จึงอยากได้กระเป๋าอเนลโลกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสุภาพสตรีทั้งหลาย เพราะกระเป๋าถูกออกแบบมาสำหรับสตรีโดยเฉพาะ ส่วนกระเป๋าพอเตอร์ราคาจะสูงกว่าอเนลโล ถัวเฉลี่ยราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าเยนขึ้นไป หรือประมาณ 6,400 บาท เหตุที่ราคาสูงกว่าเพราะกระเป๋าพอเตอร์ส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าผู้ชาย ใช้สำหรับถือก็ได้ สะพายข้างก็ได้ หรือจะสะพายคาดหน้า คาดหลังก็ได้เช่นกันนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นชอบถือกระเป๋ายี่ห้อนี้

ขณะที่วัยรุ่นเองก็ชอบสะพายกระเป๋ายี่ห้อนี้เช่นกัน เนื่องจากวัสดุค่อนข้างดี การตัดเย็บทุกใบล้วนทำจากมือทั้งสิ้น ที่สำคัญแบบมีให้เลือกหลากหลายและค่อนข้างคงทน สำคัญไปกว่านั้น ทราบข่าว่ากระเป๋ายี่ห้อนี้ผลิตมาหลายเจเนอเรชั่นแล้ว จึงทำให้กลายเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ทั้งคนญี่ปุ่นยังสนับสนุนการใช้กระเป๋ายี่ห้อนี้อีกด้วย

จนทำให้ผมคิดถึงสินค้าของไทยหลายๆ ยี่ห้อว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยมีแบรนด์ที่ทำให้คนไทยอยากใช้กระเป๋าของเราเอง หรือถ้าจะมีจริงๆ อย่างกระเป๋าแบรนด์นารายา (Naraya) ก็มีคนไทยส่วนน้อยที่ใช้

ไม่เหมือนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนเห็นช็อปนารายาที่ไหนไม่ได้ เป็นต้องขนกลับบ้านทันที แต่คนไทยด้วยกันเองกลับไม่ค่อยสนใจทั้งๆ ที่สวยงามไม่แพ้ใคร แถมราคาก็ไม่ได้เว่อร์อะไรมากมาย ลึกลงไปกว่านั้น ถ้าใครซื้อกระเป๋าแบรนด์นารายา เงินทุกบาททุกสตางค์ยังถูกนำกลับไปชุมชนต่างๆ ที่เขาเป็นผู้ผลิตกระเป๋าขึ้นมาอีกด้วย

ทุกครั้งที่ผมเห็นสินค้าญี่ปุ่นวางขายหลากหลายตามที่ต่างๆ เขามักจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน บางทีรัฐบาลอาจนำเงินเข้ามาเป็นทุนช่วยสนับสนุนด้วยจนทำให้สินค้าที่ดูธรรมดาๆ อาจกลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงต่อไปในอนาคต ซึ่งผมเห็นแล้วทำให้คิดว่าจริงๆ งานหัตถกรรมต่างๆ ของบ้านเราไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าใครเลย แต่ติดขัดที่ว่าทำไมถึงไม่ก้าวไปไกลจากตลาดเดิมๆ

ทำไมถึงวนเวียนกันขายอยู่เฉพาะสถานที่หนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าเกรดเอ วัสดุก็ดี การตัดเย็บก็ดี แบบ และรูปทรงก็ดีหรือการถักทอเส้นไหม ฝ้ายอะไรต่างๆ ก็ดี แต่กลับไม่ค่อยมีคนซื้อ

ตรงกันข้ามกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถ้าใครเคยไปประเทศนี้คงทราบกันดี สินค้าของประเทศเขาก็ไม่เท่าไหร่หรอก แต่การออกแบบแพ็กเกจจิ้งค่อนข้างดี สวยงาม มีสีสัน

จึงทำให้สะดุดตานักท่องเที่ยวชาวไทย และประเทศอื่นๆ ที่ล้วนต่างต้องควักเงินซื้อกันทั้งสิ้น ซึ่งก็เหมือนกับผม พอหลังจากเตรียมแพ็กกระเป๋ากลับบ้าน ผมก็รู้ทันทีว่าต้องไปหากระเป๋าผ้าใบใหญ่อีกใบเพื่อขนของฝากกลับ นับรวมๆ เป็นเงินเยนแล้วก็หลายแสนเยน หรือหลายหมื่นบาทบ้านเรา แต่ทำไมถึงต้องขนกลับเมืองไทย คำตอบง่ายๆ ครับ…ก็ของเขาดี ใครๆ ก็อยากใช้ อยากได้

และใครเล่าจะปฏิเสธล่ะครับ?