ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟังเสียงรากหญ้าบ้าง ดีไหม?

จริงๆ ก็พอจะเข้าใจอยู่บ้างว่ารัฐบาลภายใต้แกนนำของ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี พยายามอย่างยิ่งที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก

รวมถึงล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 125 ล้านบาท เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำการประชาสัมพันธ์การจัดทำโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้วยการจัดนิทรรศการและงานสัมมนาระดับชาติภายใต้ชื่อ “โอกาสทางการลงทุนในประเทศไทย” ซึ่งจะมีซีอีโอจากบริษัทระดับโลกมาบรรยายให้กับผู้เข้ารับฟังการสัมมนา

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะทำการประชาสัมพันธ์โอกาสการลงทุนในประเทศไทย โดยในส่วนนี้จะโฆษณาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อตอกย้ำถึงศักยภาพและความพร้อมด้านต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

ซึ่งผมเห็นแล้ว ฟังแล้ว อ่านแล้วก็เข้าใจ

แต่ถามว่าพ่อค้าแม่ค้าร้านตลาดได้อะไรจากงานสัมมนาระดับชาติอย่างนี้บ้าง?

ผมไม่รู้

หรือจะพูดตรงๆ ก็คือไม่ได้อะไร

ถามว่าแล้วใครได้ประโยชน์?

รัฐบาลได้

คนฟังที่เป็นนักธุรกิจได้

สื่อมวลชนได้มาเผยแพร่ข่าว

แต่ประชาชนจะได้หรือไม่ ไม่ทราบ และไม่อยากโยงประชาชน และพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะถึงอย่างไรเขาก็ทำมาหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่ร่ำไป

เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลางเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้กำลังจะมีงาน

เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี ตอนนี้เราๆ ท่านๆ ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าไม่มีการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายผ่านการเลือกตั้ง นับตั้งแต่คนออกแบบแผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์ ช่างภาพ ช่างเพลต ช่างแท่น

รวมไปถึงโรงพิมพ์ต่างๆ

ที่มีพนักงานหลายสิบคน ถึงหลายพันคนที่ต่างมีครอบครัว พ่อ แม่ ลูก และญาติพี่น้องที่ต้องดูแลอีกหลายชีวิตก็ต้องพลอยสงบนิ่งไปด้วย

นี่ไม่นับพ่อค้าแม่ค้าร้านตลาดอีกจำนวนมาก ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเลือกตั้ง ที่พวกนักศึกษา ประชาชน วินมอเตอร์ไซค์ ที่รับจ็อบให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ก็พลอยสงบนิ่งตามไปด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อเห็นภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการหว่านเงินลงไปในระดับรากหญ้าตลอดช่วงอายุของรัฐบาล ผมก็ไม่เห็นเงินจะสะวิงกลับมาที่ตะกร้าเงินของภาครัฐเลย

หว่านแล้วหาย

อยู่อย่างนี้

เพราะถ้าลองไปเดินสำรวจตลาดต่างๆ ที่เชื่อว่าเคยมีความคึกคักในสมัยหนึ่ง แต่ตอนนี้ลองไปเดินดูสิ พ่อค้าแม่ค้าหายไปเกือบครึ่ง เพราะเขาขายของไม่ได้

ไม่มีคนมาซื้อ

หรือมีแต่คนขาย

ยิ่งเมื่อภาครัฐออกมาตรการคืนทางเท้าให้กับประชาชนด้วย ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เศรษฐกิจรากหญ้าพลอยดิ่งเหวลงไปทุกที

พวกเขาก็รักบ้านเมืองเหมือนกับเรา

และพวกเขาก็ต้องอาศัยปากท้องเฉกเช่นคนอื่นๆ เหมือนกัน

เมื่อขอร้องไม่ให้ขาย ก็ควรจัดสรรที่ขายของให้เขาใหม่ด้วย และต้องเป็นที่ขายได้ มีผู้คนเดินกันขวักไขว่ ไม่ใช่ให้เขาไปแอบอยู่ในตรอก ซอก ซอยที่แทบจะไม่มีคนเดินเลย

แล้วเขาจะขายของได้อย่างไร

ยกตัวอย่างคนขายหมูทอดหน้าโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง แถวถนนสามเสน เดิมทีเขาขายตั้งแต่เช้ายันบ่าย และขายอยู่อย่างนี้มาหลายปีแล้ว

ผมคาดคะเนเอาว่าเขาน่าจะขายได้วันละหลายพันบาท

แต่แล้วจู่ๆ เมื่อภาครัฐออกนโยบายคืนทางเท้าให้กับประชาชน เขาก็ไม่ได้ขายของเลย ตอนนี้ผมยังไม่รู้ว่าเขาไปขายอยู่ที่ไหน และเขารู้สึกอย่างไรบ้าง

และเอาจริงๆ ผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับนโยบายนี้อยู่พอสมควร แต่กระนั้นภาครัฐก็ต้องมาสแกนดูเป็นจุดๆ ด้วย เอาเฉพาะจุดสำคัญจริงๆ หรือจุดที่ทำให้ประชาชนเดินบนทางเท้าลำบากจริงๆ

ผมจะไม่ว่าอะไรเลย

แต่นี่กลายเป็นว่าภาครัฐเข้าไปทุบหม้อข้าวเขาอย่างเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเดิมทีเขาก็หาเช้ากินค่ำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัวยากอยู่แล้ว

แต่พอไม่ให้เขาขาย

แล้วเขาจะไปขายอะไร

ผมถึงบอกว่าบางทีคนในภาครัฐต้องหัดฟังเสียงประชาชนเหล่านี้บ้าง เพราะไม่เช่นนั้น ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ต้องพึ่งพาร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์อยู่ร่ำไป

มื้อสองมื้อพอได้อยู่

แต่ให้ทุกมื้อคงไม่ไหว อีกอย่างผมว่าเสน่ห์ของเมืองไทย หรือเสน่ห์ของมหานครกรุงเทพฯ ก็อยู่ที่ความไม่เป็นระเบียบนี่แหละ เพียงแต่อย่าให้มากเกินไปเท่านั้นเอง

โฟกัสทีละจุด

เอาเฉพาะจุดที่สำคัญจริงๆ และทำให้แขกบ้านแขกเมืองเขาสะดวกสบาย ผมจะไม่ว่าเลย แต่นี่เล่นไปทุกถนน ทุกย่านของการทำการค้าของคนรากหญ้า

แล้วเขาจะอยู่อย่างไรล่ะครับ

ผมถึงบอกว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ทำไปเถิด แต่อย่างน้อยช่วยทำให้พ่อค้าแม่ขายที่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญชนพลอยได้รับผลประโยชน์ด้วย

เขาก็จะไม่ว่า

เขาจะสนับสนุนท่านทั้งหลายด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น ลองฟังเสียงเขาสักหน่อยนะครับ?