โควิด ยังอีกยาว! SMEs จะคุมเข้ม การเงิน อย่างไร เพื่อรักษาสภาพคล่อง ทางธุรกิจ

โควิด ยังอีกยาว! SMEs จะคุมเข้ม การเงิน อย่างไร เพื่อรักษาสภาพคล่อง ทางธุรกิจ

เป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้ว ที่เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงในเร็ววัน ผู้ประกอบการทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องรู้ วิธีการบริหารธุรกิจและการเงิน เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้

โดย เว็บไซต์ ธนาคารกสิกรไทย เผย วิธีคุมเข้มทางการเงิน เพื่อช่วยรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจให้กับเหล่าผู้ประกอบการต่างๆ ดังนี้

คุมเข้มการเงินแบบ SMEs ทำอย่างไร?

ไม่มีครั้งไหนที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเจอวิกฤตลากยาวนานเท่าครั้งนี้ กระแสเงินสด (Cash Flow) กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับ FTI Poll ของ ส.อ.ท. ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่นี้ ส่งผลกระทบต่อ SMEs มากกว่าช่วงปี 2563

และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา คือ การลดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค รวมไปถึงค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการ ค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และพื้นที่เช่าโรงงาน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับในสถานการณ์ที่ธุรกิจไม่สามารถมีรายได้ตามปกติ

เป็นการสะท้อนได้อย่างดีว่า ค่าใช้จ่าย เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่ง SMEs จะมีวิธีจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างไรบ้าง มาดูกัน

1. จัดลำดับความสำคัญของรายจ่าย เช่น เงินเดือนพนักงาน เป็นรายจ่ายอันดับต้นๆ ที่ต้องจ่ายก่อน ส่วนรายจ่ายอื่นๆ อะไรที่สามารถยืดเวลาจ่ายได้ ให้ยืดเวลาออกไป เช่น ค่าเช่าร้าน หรือสำนักงาน จากที่ต้องจ่ายต้นเดือน อาจขอขยับเวลาจ่ายปลายเดือนแทน เพื่อให้สามารถหมุนเงินได้คล่องตัว

2. ต่อรองเพื่อขอส่วนลดจากคู่ค้า โดยเรียงรายชื่อคู่ค้า ตามค่าใช้จ่ายจากมากไปน้อย แล้วให้เจรจากับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดก่อน เพื่อขอลดราคา หรือเปลี่ยนเป็นทำสัญญาระยะยาวเพื่อแลกกับการจ่ายเงินที่น้อยลง

3. บริหารเครดิตเทอมใหม่ ระยะเวลาเครดิตเทอมระหว่างลูกหนี้การค้ากับเจ้าหนี้การค้าต้องไม่เท่ากัน เช่น ให้เครดิตเทอมลูกหนี้การค้า 30 วัน ก็ต้องยืดเครดิตเทอมเจ้าหนี้การค้าเป็น 45 วัน เพื่อให้สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ก่อน แล้วค่อยจ่ายออกไปให้เจ้าหนี้ วิธีนี้จะช่วยให้ธุรกิจมีเงินสดอยู่ในธุรกิจได้นานขึ้นและหมุนเงินได้คล่องตัว

4. หลีกเลี่ยงลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ หากจำเป็นต้องจ่าย อาจใช้วิธีแบ่งจ่าย เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง

ธุรกิจออนไลน์ จัดการเงินให้คล่องตัว ด้วยวิธีไหน?

ธุรกิจออนไลน์ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่า SMEs และกลุ่มนี้มักจะดำเนินการในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” ซึ่งหลายคนก็มองข้ามการทำบัญชีอย่างถูกต้อง ดังนั้น การจัดการเงินของธุรกิจออนไลน์ อาจมีรายละเอียดบางอย่างที่ต่างจากธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล แต่การบริหารเงินในยุควิกฤต โดยหลักๆ จะมีความคล้ายกัน นั่นคือ รับเงินให้ไว และจ่ายออกไปให้ช้าที่สุด

1. สำหรับธุรกิจออนไลน์ที่ไม่ได้มีการทำบัญชีอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ การจดบันทึก ทั้งรายรับและรายจ่ายอย่างละเอียด และการทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Mobile Application หรือ Internet Banking ก็จะช่วยให้มีข้อมูลการเงินของธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น และสามารถนำเอาข้อมูลนี้มาประมาณการรายได้ในอนาคตได้เช่นกัน

2. ควบคุมค่าใช้จ่าย ไม่ควรสต๊อกสินค้ามากเกินไป แม้ตอนนี้ธุรกิจออนไลน์จะมีโอกาสมากกว่าธุรกิจออฟไลน์ แต่การแข่งขันที่สูงและความกังวลของผู้บริโภค อาจทำให้ชะลอการใช้จ่ายลง รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้เงินสดซื้อสินค้าเพื่อแลกกับส่วนลด เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องได้ เนื่องจากหมุนเงินไม่ทัน

3. จัดการค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับธุรกิจออนไลน์ภาระค่าใช้จ่ายหลักๆ อาจไม่ได้อยู่ที่พนักงาน แต่จะไปหนักที่ค่าโฆษณา เพราะการทำตลาดออนไลน์โดยไม่พึ่งพาโฆษณาเลยเป็นไปได้ยากมาก ฉะนั้น ธุรกิจออนไลน์ ต้องวางแผนการใช้จ่ายค่าโฆษณาอย่างรัดกุม บางคนใช้เงินจำนวนมาก แต่ไม่สร้างยอดขายกลับมา ก็ต้องพิจารณาลดค่าโฆษณาลง หรือหาช่องทางอื่นในการเพิ่มยอดขาย

เงินทุนทางเลือก ช่วยเสริมสภาพคล่องได้

การมองหา “เงินทุนทางเลือก” ที่จะเอาไว้เป็นแหล่งเติมเงินสด หรือช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ เป็นอีกสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ในยามนี้

ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เอกสารสำคัญที่เกือบทุกธุรกิจต้องมี และถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของกิจการที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที ด้วยการนำใบแจ้งหนี้มาขอสินเชื่อ Factoring กับธนาคาร ก็จะได้รับเงินสดไปใช้สำหรับหมุนเวียนในธุรกิจ โดยไม่ต้องรอครบตามระยะเวลาเครดิตเทอม

รถยนต์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องได้ หากไม่นับสินเชื่อประเภทจำนำทะเบียน ที่อาจเหมาะสำหรับบุคคลธรรมดาหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการได้เงินสดไวแล้ว ยังมีสินเชื่ออีกประเภทที่เรียกว่า การเช่าแบบลีสซิ่ง (Financial Lease) ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายเงินก้อนในการซื้อรถยนต์ อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา ที่สำคัญ สามารถนำค่างวดรถไปหักภาษีได้สูงสุด 36,000 บาทต่อเดือน เป็นการช่วยธุรกิจลดค่าใช้จ่ายลง ทำให้สภาพคล่องเหลือเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ไอเดียใหม่ หรือนวัตกรรม สามารถเปลี่ยนเป็นเงินทุนให้ธุรกิจได้ ในรูปแบบ Crowdfunding หรือ การระดมทุนจากคนจำนวนมากที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรายเล็ก หรือ Startup ที่ใช้วิธีนี้เข้าถึงเงินทุน นอกจาก Crowdfunding แล้ว ยังมีนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) ที่จะมองหาธุรกิจที่มีไอเดียน่าสนใจเพื่อเข้าไปลงทุนด้วยเช่นกัน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของเงินทุนทางเลือก ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น แต่การจะเลือกใช้เงินทุนประเภทไหน ควรศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้