เปิด 3 แนวทางบริหารทุนขนส่ง สำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก เมื่อต้นทุนสูงขึ้น

เปิด 3 แนวทางบริหารทุนขนส่ง สำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก เมื่อต้นทุนสูงขึ้น

ด้วยต้นทุนค่าขนส่งทางทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการส่งออก แน่นอนว่าย่อมทำให้สินค้านั้นๆ มีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น ผู้ส่งออกในปัจจุบัน จึงต้องกำหนดแนวทางในการบริการจัดการต้นทุนในด้านโลจิสติกส์ ที่แฝงอยู่กับตัวสินค้าส่งออกซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกอาจจะมองข้ามหรือคาดไม่ถึง เพราะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์นั้น แฝงอยู่ในขั้นตอนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  1. การจัดซื้อวัตถุดิบ

สินค้าที่มีทั้งการจัดซื้อจากต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งจะมีเรื่องราคา ปริมาณ ของการสั่งซื้อแต่ละครั้ง หากซื้อในปริมาณต่างกัน ราคาค่าสินค้า และค่าขนส่งจะต่างกัน การซื้อสินค้าจึงต้องพิจารณาปริมาณที่ซื้อกับค่าขนส่งควบคู่กันไป หากเป็นการซื้อจากต่างประเทศ ผู้ขายอาจจะกำหนดราคาสินค้าโดยพิจารณาจากปริมาณการสั่งซื้อ และรูปแบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งต้องพิจารณาว่า ผู้ขายเสนอขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

หากผู้ขายเสนอราคาสินค้า โดยการส่งมอบสินค้า ณ ท่าเรือ (FOB) ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบด้านค่าขนส่งหรือค่าระวางเรือและค่าประกันภัยสินค้า แต่ถ้าผู้ขายเสนอราคาค่าสินค้าโดยรวมค่าขนส่งระหว่างประเทศและการประกันภัยสินค้า หรือ CIF ผู้ขายจึงต้องเปรียบเทียบว่า ราคา CIF จากต่างประเทศกับราคาค่าขนส่งจากประเทศผู้ซื้อและค่าประกันภัยรวมกันแล้ว ราคาแบบไหนต่ำกว่า ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจสั่งซื้อ จึงต้องพิจารณาราคาและศึกษาเงื่อนไขให้ดี

  1. การจัดการค่าขนส่ง

การขนส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งทางเรือ เครื่องบิน และรถบรรทุก ก่อนการสั่งซื้อสินค้าจึงต้องตกลงราคาซื้อขายให้ชัดเจนว่า การซื้อขายนั้นๆ รวมหรือไม่รวมค่าขนส่งระหว่างประเทศ และเป็นการขนส่งใน Mode ใด ขนส่งแบบไหน เมื่อตกลงกันชัดเจนในรูปของการทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว ผู้ซื้อต้องระบุเงื่อนไขให้ชัดเจนว่า การขนส่งสินค้าในชุดนั้นเป็นการขนส่งโดยทางเครื่องบินหรือทางเรือ

  1. ค่าขนส่งจากท่าเรือไปโรงงาน

เมื่อสินค้าจากต่างประเทศถึงท่าเรือ หรือ สนามบิน เมื่อดำเนินพิธีการศุลกากรแล้ว จะต้องขนส่งสินค้าออกจากท่าเรือ หรือ สนามบิน ไปโรงงาน หากเป็นสินค้าปริมาณไม่มาก ค่าใช้จ่ายอาจจะไม่มากเท่าไร แต่ถ้าหากเป็นสินค้าเต็มตู้คอนเทนเนอร์ที่ต้องขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปเปิดที่โรงงาน ค่าใช้จ่ายในกรณีเช่นนี้จะมาก เพราะจะมีทั้งค่าขนส่ง ค่าคืนตู้คอนเทนเนอร์ให้บริษัทเรือหรือเอเย่นต์ เรือ ค่าเสียเวลาตู้ บางครั้งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20’ เสียค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเป็นหมื่นๆ บาท

อีกปัจจัยคือเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งค่าระวางที่ปรับเพิ่มขึ้นตามดีมานด์ของการขนส่งทางเรือ และราคาน้ำมันในตลาดโลก อันเป็นต้นทุนที่แก้ได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก จึงต้องหันมาใส่ใจระบบจัดการต้นทุนจากภายในสถานประกอบการ เพื่อกำจัดต้นทุนแฝงที่ซ้ำเติมในขณะนี้ และอาจจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นตัวช่วยในการลดต้นทุน หรือการเลือกจ้าง Outsource ที่เหมาะสมและมีความชำนาญเพื่อประหยัดเวลาและต้นทุนการดำเนินการนั่นเอง

ที่มา : เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ และ สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย