ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อินเตอร์เน็ต และสมาร์ตโฟนเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของผู้คนไปเสียแล้ว จะทำอะไรก็ดูจะง่าย สะดวกสบายไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลข่าวสาร พูดคุยติดต่อกับคนอื่น การจองรถยานพาหนะ ทำงานดูหนังฟังเพลงต่างๆ รวมถึง การซื้อ-ขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่เพียงเข้าเว็บ กดสั่งของที่ต้องการ จ่ายเงินผ่านสมาร์ตโฟน และรอรับของได้ที่บ้าน แค่นี้ก็ซื้อของเสร็จแล้ว
ผู้ประกอบการในยุคใหม่ ต่างปรับตัวเข้ามาค้าขายในออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และง่าย ในการเข้าถึงสินค้า โดยในปี 2560 ช่องทางซื้อขายหลักๆ มาจากโซเชียลมีเดียถึง 40% รองลงมาเป็น อีมาร์เก็ตเพลส 35% และช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของแบรนด์ 25% ซึ่งหากใครปรับตัวก้าวตามไม่ทัน กิจการก็อาจปิดตัวลงได้เลยทีเดียว
คำถามต่อมาคือ “แล้วต้องปรับตัวอย่างไรล่ะ?” กูรูอีคอมเมิร์ซของไทย อย่าง คุณป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO and Founder Tarad Dot Com Group และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้กล่าวถึง “เทรนด์ตลาด E-Commerce ประเทศไทย ในปี 2019” ในงานสัมมนา ก้าวทันก่อนใคร E-Commerce Trends 2019 ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกรุงเทพ
เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวให้เข้ากับการค้าออนไลน์มากขึ้น โดยคุณป้อมกล่าวถึงเทรนด์ตลาดอีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในตลาดประเทศไทยไว้ 10 ข้อ ดังนี้
ข้อ 1 การแข่งขันของตลาดอีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) : อย่าง ลาซาด้า (LAZADA) ช็อปปี้ (Shopee) และเจดี เซ็นทรัล (JD Central) มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ใช้เงินลงทุนด้านการตลาด และออกโปรโมชั่นแข่งกันเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้ามากขึ้น อาทิ ใช้โปรโมชั่นซื้อแลกพ้อยท์ หรือ จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) สะสมพ้อยท์ และ ซูเปอร์โปรโมชั่นรายเดือน อย่าง 11.11 หรือ วันที่ 11 เดือน 11 มากระตุ้นการซื้อของลูกค้า
ข้อ 2 สินค้าต่างๆ จากประเทศโดยเฉพาะจีน เริ่มบุกเข้าสู่ตลาดไทยและอาเซียน : จากข้อมูลของ Pricezar พบว่า สินค้าต่างประเทศอย่าง สินค้าจีน กินเปอร์เซ็นต์สินค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกว่า 80% และมีแนวโน้มเพ่ิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สินค้าไทย มีเปอร์เซ็นต์อยู่ในตลาดเพียง 20%
ข้อ 3 แบรนด์สินค้าต่างๆ หันมาขายทางออนไลน์กันมากขึ้น : มีการสร้างหน้าเว็บเป็นของตัวเอง, มีการวางขายใน Marketplace อย่าง ลาซาด้า (LAZADA) ช็อปปี้ (Shopee) หรือ เจดี เซ็นทรัล (JD Central) และโพสต์ขายในโซเชียลอย่าง อินสตาแกรม (IG) และ เฟซบุ๊ก เป็นต้น
ข้อ 4 ต้องมีทั้ง Online และ Offline : คุณป้อม กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรทำการขายผ่านตลาด E-Commerce ทั้งแบบขายหน้าร้าน (Offline) และ แบบขายออนไลน์ (Online) จะทำให้แบรนด์เป็นที่ได้เปรียบกว่าเจ้าอื่น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ได้แบ่งแยกช่องทางการซื้อสินค้าเหมือนสมัยก่อน
ข้อ 5 ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซเข้ามาเป็นผู้ช่วยธุรกิจ : อย่าง ลาซาด้า (LAZADA) ช็อปปี้ (Shopee) หรือ เจดี เซ็นทรัล (JD Central) ที่ผู้ประกอบการ สามารถนำสินค้าเข้าไปวางขายบนหน้าเว็บ/แอพพลิเคชั่นได้อย่างเป็นระบบ ลูกค้าสามารถเห็นตัวสินค้าและราคาได้ทันที
ข้อ 6 บริการสนับสนุน E-Commerce เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว : มีบริการสนับสนุนธุรกิจค้าขายออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นใหม่มากมาย ทั้งบริการส่งของ, โลจิสติกส์ และบริการแพ็กของ เข้ามาเป็นตัวเลือก จัดโปรโมชั่นต่างๆแข่งขันกันเอง เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้บริการ
ข้อ 7 ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น (Affiliate Marketing) : เป็นบริการตัวเลือกที่เข้ามาช่วยผู้ประกอบการหาลูกค้า และแบ่งผลประโยชน์กับผู้ประกอบการ เมื่อมีลูกค้ามาซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการ
ข้อ 8 การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเริ่มเติบโต (Cross Border) : เนื่องจากปัจจุบันการค้าขายในอีคอมเมิร์ซไร้พรหมแดน ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าจากทั่วโลกมากขึ้น ทำให้ตลาดการค้าขายออนไลน์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ข้อ 9 โซเชียลคอมเมิร์ส (Social Commerce) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง : ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโซเชียล อย่าง เฟซบุ๊ก หรือ ไลน์ หันมาทำการค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากสนใจในสินค้าประเภทเดียวกัน มารวมกลุ่มเกิดเป็นคอมมูนิตี้ มีการสร้างเพจหรือไลน์กลุ่มเพื่อใช้พูดคุย ทำให้ร้านค้าสามารถเจอกลุ่มลูกค้าที่ตรงเป้าหมาย เกิดเป็นการซื้อขายสินค้าในกลุ่มตามมา
ข้อ 10 การตลาดรูปแบบใหม่ : มีเครื่องมือใหม่ๆ ในการทำการตลาด ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยในปัจจุบัน 86% ของคนทั่วไป ไม่เชื่อคำโฆษณาของแบรนด์ แต่หันไปเชื่อถือบุคคลที่ 3 ที่พูดถึงแบรนด์นั้นๆมากกว่า ถึง 92% ทำให้เกิดตลาด Influencer หรือ บุคคลที่ 3 ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ อย่าง ดารา หรือ บิวตี้บล็อกเกอร์