ครั้งแรกในไทย! คณะนักวิจัย “ดอยคำ” ค้นพบไวรัส 2 สายพันธุ์ชนิดใหม่ ในสตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80

ครั้งแรกในไทย! คณะนักวิจัย ดอยคำค้นพบไวรัส 2 สายพันธุ์ชนิดใหม่ ในสตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80

คณะนักวิจัย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ค้นพบเชื้อไวรัส strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาเหตุการเกิดโรคใบจุด และใบย่นในพื้นที่เพาะปลูกเกษตรกร 3 แห่ง ได้แก่ บ้านหนองเต่า บ้านขอบด้ง ตำบลม่อนปิ่น และบ้านแม่งอนขี้เหล็ก ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย

โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่

นายนิวัฒน์ ขันโท ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมเกษตร กล่าวว่า “การค้นพบในครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่บริษัทฯ ร่วมมือกับสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชากีฏวิทยา และโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพัฒนาสายพันธุ์สตรอเบอร์รี ณ โรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช (LAB) ของบริษัทฯ ซึ่งพบปัญหาอาการใบด่าง ม้วนงอ และอาการแคระแกร็นในสตรอเบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 80 ที่เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเจริญเติบโต และปริมาณผลผลิต ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าทางการตลาด โดยตรวจพบเชื้อไวรัส SLRSV และ SCV : ซึ่งยังไม่มีใครเคยพบเจอในพืชชนิดนี้”

โรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช (LAB) โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่
โรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช (LAB) โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช (LAB) ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการศึกษา วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ให้ได้ต้นพันธุ์พืชที่แข็งแรง ปลอดโรค สำหรับเป็นต้นพันธุ์ให้เกษตรกรในโครงการ และประชาชนที่สนใจนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเกษตรไทย

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่

คณะนักวิจัยดอยคำ เริ่มศึกษาเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัส SLRSV และ SCV ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2564 เนื่องจากเชื้อไวรัสส่งผลกระทบกับเกษตรกรในพื้นที่ของโรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ ที่ทำให้ผลผลิตสตรอเบอร์รีมีปริมาณ และคุณภาพผลผลิตลดลง โดยในปี พ.ศ. 2564 เกษตรกรในระบบส่งเสริมของบริษัทฯ ผลิตสตรอเบอร์รีผลสดได้เพียง 27.23 ตันต่อพื้นที่ปลูก 45 ไร่ ลดลงจาก ปี พ.ศ. 2561 ถึง 13.98 ตัน (41.21 ตันต่อพื้นที่ปลูก 45 ไร่)

นายนิวัฒน์ ขันโท ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมเกษตร
นายนิวัฒน์ ขันโท ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมเกษตร

จากการตรวจหาเชื้อไวรัสในต้นพันธุ์สตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 จากแปลงเกษตรกรบ้านหนองเต่า และบ้านขอบด้ง ตำบลม่อนปิ่น และบ้านแม่งอนขี้เหล็ก ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งหมด 175 ตัวอย่าง ด้วยเทคนิค RT – PCR และการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ ยืนยันการเข้าทำลาย เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด ได้แก่ strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในตัวอย่างใบที่ไม่แสดงอาการของโรคเป็นส่วนใหญ่ และพบการเข้าทำลายร่วมกันของเชื้อไวรัสทั้ง 2 ตัวอย่างใบที่แสดงอาการของโรค งานวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีดังกล่าวมีความแม่นยำสูงเหมาะสมในการนำมาใช้สุ่มตรวจเชื้อไวรัสในสตรอเบอร์รีที่ปลูกในพื้นที่กว้าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ลดความเสียหายด้านปริมาณ และคุณภาพของผลผลิตสตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80

การค้นพบครั้งนี้ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รี ที่จะสามารถเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคจากการคัดกรองต้นพันธุ์ของโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช (LAB) สร้างมาตรฐานยกระดับผลผลิตให้ได้คุณภาพ และปริมาณต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานดอยคำอีกด้วย

โดยงานวิจัยฉบับนี้ ได้รับการยอมรับ และตีพิมพ์ในวารสารเกษตร วารสารวิชาการของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับปีที่ 40 (ฉบับที่ 1) ประจำเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2567 ในหัวข้อ “การตรวจพบไวรัสสาเหตุโรคใบจุด และใบย่นในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งวารสารฉบับนี้ได้รับการยอมรับโดยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre) หรือ TCI ในระดับ 1 ถือว่าเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการในประเทศไทย และอาเซียน

การเพิ่มปริมาณเนื้อเยื่อพืช
การเพิ่มปริมาณเนื้อเยื่อพืช
คณะนักวิจัยดอยคำ กำลังตรวจความสมบูรณ์ของต้นอ่อนสตรอเบอร์รี
คณะนักวิจัยดอยคำ กำลังตรวจความสมบูรณ์ของต้นอ่อนสตรอเบอร์รี
ตรวจการตกตะกอนสารพันธุกรรม DNARNA
ตรวจการตกตะกอนสารพันธุกรรม DNARNA
ตรวจสอบความเข้มข้นของสารพันธุกรรม
ตรวจสอบความเข้มข้นของสารพันธุกรรม