รมว.ดีอี ชูผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร

รมว.ดีอี ชูผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร

ขยายผลชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาคุณภาพชีวิต

ติดเทอร์โบเครื่องยนต์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

3 ธันวาคม 2566, จังหวัดหนองคายรมว.ดีอี ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร พร้อมเชื่อมโยงสู่การขยายผลโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่ดำเนินการโดย ดีป้า เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร โดยตั้งเป้าปั้นศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 16 ศูนย์จาก 50 ศูนย์ทั่วประเทศ ชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานมีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 160 ชุมชน ระบุโครงการดังกล่าวถือเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้เครื่องยนต์แรกของนโยบาย The Growth Engine of Thailand

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี)
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี)

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เยี่ยมชมผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ ตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการและร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี)

โดยมี นายปราโมทย์ มุขพรหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาง ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานกิจการสาขา ทีมงานดีป้า สาขาภาคอีสานตอนกลาง ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจากดีป้า ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวี ตำบลบ้านเดื่อ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู อำเภอโพนพิสัย ผู้ให้บริการดิจิทัล และกลุ่มเกษตรกรร่วมให้การต้อนรับ

จากนั้น นายประเสริฐได้ร่วมรับฟังการบรรยายผลการดำเนินโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับชุมชนจากผู้แทนวิสาหกิจชุมชน และร่วมพูดคุยถึงปัญหา อุปสรรค และข้อเรียกร้องจากกลุ่มเกษตรกร ก่อนเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน โดรนเพื่อการเกษตร และเทคโนโลยีดิจิทัลด้านเกษตรอัจฉริยะจากผู้ให้บริการดิจิทัล และรับชมการสาธิตการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตร

นายประเสริฐ เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี มุ่งส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงมาจากการขยายผลการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนในชนบทสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลคือ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่ดำเนินการโดยดีป้า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรผ่านการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินและการซ่อมบำรุงโดรนแก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ พร้อมผลักดันให้เกิดนักบินโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ศูนย์บริการซ่อมบำรุง
ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand : MiT) จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมาตรฐาน dSURE จาก ดีป้า

นอกจากนี้ ดีป้า และพันธมิตรจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งเนื้อหาของทั้ง 2 หลักสูตรได้รับการออกแบบโดย ดีป้า และผ่านการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือน โดยตั้งเป้าผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน

กระทรวงดีอี โดย ดีป้า ประเมินว่า ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ จำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน โดยในพื้นที่ภาคอีสานตั้งเป้าเกิดศูนย์บริการฯ จำนวน 16 ศูนย์ ชุมชนมีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 160 ชุมชน ซึ่งโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ถือเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เครื่องยนต์เครื่องที่หนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand” รมว.ดีอี กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลให้กับประเทศ โดยหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญคือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนในชนบทสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองในรูปแบบรัฐ ร่วมลงทุน ชุมชนร่วมสมทบ (Matching Fund) เพื่อนำไปสู่การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาขีดความสามารถกระบวนการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการโดรนเกษตรวิถีใหม่ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจร
บ้านดงนาคำ คือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ดีป้า ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท โดยชุมชนได้นำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการกระบวนการผลิตข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ และเกิดการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พยากรณ์ และต่อยอดในมิติต่างๆ นอกจากนี้ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนยังได้รับการถ่ายทอดทักษะความรู้ และสอบใบอนุญาตบินโดรนอย่างถูกต้อง

หลังจากนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ วิสาหกิจชุมชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% หรือ 216,000 บาท/ปี สามารถลดต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าแรง ค่าปุ๋ย และสารชีวภัณฑ์ 20% หรือ 115,200 บาท/ปี ขณะที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวี และกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู มีการนำเทคโนโลยี IoT : Smart Farm พร้อมโรงเรือนมาใช้ปลูกพืชปลอดสาร โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยโดยอัตโนมัติ ทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวีมีรายได้จากการจำหน่ายผักปลอดสารเพิ่มขึ้น 30% หรือ 86,400 บาท/ปี ต้นทุนลดลง 20% หรือ 31,800 บาท/ปี ส่วนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู มีรายได้จากการจำหน่ายผักปลอดสารเพิ่มขึ้น 30% หรือ 43,200 บาท/ปี ต้นทุนลดลง 30% หรือ 6,000 บาท/ปี โดยการดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพแก่ภาคเกษตรกรรมไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าขายของชุมชนอีกทางหนึ่ง” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

นอกจากนี้ รมว.ดีอี ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก และพบปะคณะผู้บริหารระดับสูง
ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเพื่อประชุมหารือข้อราชการ จากนั้นจึงเดินทางเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ณ จังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 4 ธันวาคม 2566